“สุวภา เจริญยิ่ง” ร่ายคาถาฝ่าวิกฤต บริหารเงินสู้โควิด-19

“ผู้นำองค์กร” หรือ “พนักงาน” ที่กำลังมืดแปดด้าน ไม่รู้จะเข้าไปคุยกับธนาคารยังไง จะออมเงินยังไง จะปรับตัวยังไงในยุคโควิด ฯลฯ “สุวภา เจริญยิ่ง” อุปนายก สมาคมนักวางแผนการเงินไทย และ ที่ปรึกษาด้านการเงินมือฉมังของเมืองไทย มีคำตอบให้ ใน Prachachat Live Forum ครั้งที่ 3

สรุปให้อ่านง่ายๆ แล้ว ดังนี้

ความภูมิใจในฐานะ “หมอทำคลอด”

ตลอดระยะเวลา 20-30 ปี “สุวภา” ภูมิใจที่ได้อยู่เบื้องหลังการนำธุรกิจไทยมากมาย เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะเชื่อว่าเมื่อธุรกิจเข้มแข็ง ประเทศชาติก็จะเข้มแข็ง บริษัทที่ร่ำรวย ชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานและครอบครัว ลูกค้าและครอบครัว ตลอดทั้งซัพพลายเชน จะดีขึ้น หรือในทางเศรษฐศาสตร์คือการทำให้เงินหมุนเวียน

“คนมักชอบพูดว่าคนรวยนิสัยไม่ดี แต่ดิฉันคิดว่า คนนิสัยไม่ดี มันไม่ดีตั้งแต่ตอนจนแล้ว เพียงแต่ตอนเขารวย เราเห็นเขาชัดขึ้น แต่ถ้าตอนเขาจนแล้วเขาเป็นคนดี ต้องช่วยสนับสนุนเขา อย่าให้เขาหมดกำลังใจ ต้องช่วยให้คนเหล่านี้ขึ้นมา”

เคล็ดลับเวลาขอ “กู้เงิน” กับธนาคาร

ต้องสำรวจตัวเองว่าธุรกิจที่ทำอยู่มีอนาคตหรือไม่ วิธีสำรวจเริ่มจาก

1.ดูว่าวันนี้มีทรัพย์สินอะไรบ้าง ทรัพย์สินอะไรที่ใช้ประกอบธุรกิจก็เก็บไว้ ทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ โละได้เลย โดยเฉพาะอะไรที่เงินซื้อได้ ให้ปล่อยไปเลย อย่ายึดติด เดี๋ยวมีเงินค่อยกลับไปซื้อใหม่

2.ลดหนี้สิน เน้นหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ให้ไปเจรจากับเจ้าหนี้ ยังไม่จ่าย ขอไม่ให้คิดดอกเบี้ย เพื่อไม่ให้เงินจม ส่วนการก่อหนี้ใหม่ ทุกวันนี้หลายธนาคารมีวงเงิน 20 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2 เปอร์เซ็นต์

“ในการซื้อวัตถุดิบ สมมติคนขายบอกให้จ่ายสด แสดงว่าเงินมันออกจากกระเป๋าเราแล้ว พอซื้อวัตถุดิบมา กว่าจะเอาไปผลิตใช้เวลา 1 เดือน เงินที่ออกไปยังไม่ได้อะไรกลับมา กว่าจะเอาไปวางขายให้ลูกค้าซื้อ อาจใช้เวลาอีก 1 เดือน แล้วลูกค้าก็ไม่ได้ซื้อทันทีด้วย สรุปกว่าจะผลิต วางขาย มีคนซื้อ ปาเข้าไป 2 เดือน ถ้ายอดขายคุณอยู่ที่เดือนละ 1 ล้านบาท เท่ากับเงินคุณจมไปแล้ว 2 ล้านบาท ถ้าเป็นไปได้ให้เอาวัตถุดิบมาผลิตก่อน แต่ยังไม่ต้องจ่ายเงินได้ไหม เป็นการทุ่นไป 1 เดือน หรือ 1 ล้านบาท แล้วตอนขายก็ไม่ต้องเอาไปวางบนเชลฟ์แล้ว ให้หาออร์เดอร์เลย เท่ากับว่าเราได้เงินคืนมา 2 ล้านทันที นี่คือ Cash Circle”

  1. ถ้าธุรกิจเราดีจริง ให้เพิ่มทุนเลย จะชวนคนรู้จักมาลงทุนด้วยก็ได้ เหมือนเป็นการให้คำมั่นกับธนาคารว่าเราจะลงทุนจริงจังในธุรกิจนี้

4.วิเคราะห์รายได้แบบ worst case scenario แล้วพยายามควบคุมค่าใช้จ่าย

“กล้าบอกเลยว่าธนาคารต้องการคุณ พูดตรงๆ เลย เพราะอาชีพเขาคือปล่อยกู้ ถ้าเขาไม่ให้เรา เราต้องถามเขาเลยนะว่าทำไมไม่ให้เรา ขอเรียนรู้หน่อยได้ไหม ทำยังไงคุณถึงจะปล่อยกู้เราได้ คนชอบถามว่าทำไมธนาคารชอบปล่อยกู้ให้คนนี้ ก็เวลาปล่อยให้เขาแล้ว เขาเอามาคืนไง คือเราก็ต้องมี Commitment ว่าต้องมาคืนด้วย”

ยิ่งเล็กยิ่งปรับตัวง่าย

“สุวภา” ยกตัวอย่างร้านกาแฟ “คลาส คาเฟ่” ที่ตัดสินใจปิดสาขาที่ไม่ทำกำไร แล้วโฟกัสสาขาที่ทำกำไร เปลี่ยนจากการใส่แก้วเป็นขวด แยกน้ำแข็งให้ลูกค้าผสมเอง รสชาติจะได้เหมือนเดิม พอขายดีก็ทำขวดลิตรขายให้ลูกค้าซื้อติดตู้เย็นไว้ แถมยังเพิ่มบริการจัดส่ง เพราะพนักงานในร้านก็ว่างอยู่แล้ว ประหยัดกว่าการใช้บริการจัดส่ง พนักงานก็มีรายได้

“บริษัทเล็กเป็นเรือหางยาว อย่าไปคิดแบบเรือเดินสมุทร ที่ต้องมีระบบ มีการวางแผน ต้องมี Process อย่าไปทำอย่างนั้น คุณเป็นเรือหางยาว คุณก็ไปเลย เปลี่ยนตัวเร็ว ปรับตัวเร็ว พลิกตัวกลับขึ้นมาเร็ว อย่าง แจ็ก หม่า ที่พูดเสมอว่า Because I’m small, so I can jump.”

Hit First

1.“สุวภา” ยกตัวอย่าง “เดช บุลสุข” ผู้ก่อตั้งแมคโดนัลด์ ประเทศไทย ที่บอกว่า เวลาคิดอะไรได้ ให้ Hit First มีของดี ทำเลย อย่าไปรอคนอื่นคิด

2. ถ้าคนอื่นไอเดียดี แล้วเราไม่ใช่คนแรก เป็นคนที่ 2 เราต้อง Hit it harder ต้อง on top เข้าไปอีก ไม่งั้นจะกลืน เพราะลูกค้าจะจำได้แต่คนแรก

3.แต่หากเรามีงบจำกัด ให้ hit it accuracy คือ hit target group แล้วฟาดเปรี้ยงตรงกลุ่มนั้นเลย 4.Hit it consistency มาสม่ำเสมอ มาบ่อย ๆ ไม่ต้องเยอะ ซึ่ง “สุวภา” บอกว่า ข้อนี้แหละที่เป็นกุญแจความสำเร็จของเพจต่างๆ

“กล้าพูดเลยว่าหลักการทำเพจทุกวันนี้คือความสม่ำเสมอ ไม่ใช่เขียนทีหนึ่ง อีก 3 วันมาเขียนอีกทีในแง่ลูกค้าเหมือนกัน ถ้าเขารู้ว่าคุณอยู่ตรงนี้ มีความสม่ำเสมอ นี่คือความไว้เนื้อเชื่อใจ ไม่ว่าใช่วันนี้ขายไม่ได้ เก็บของแล้วไปขายพรุ่งนี้ กลายเป็นของบูดเน่าเสีย ไม่ได้ คุณต้องสม่ำเสมอ และต้องให้สิ่งที่ดีที่สุดกับลูกค้า”

แนะนำเอสเอ็มอี

1.ต้องรักในงานที่ทำ เจ้าของธุรกิจต้องรักธุรกิจ 2. รักลูกค้าคุณ ต้องมอบสิ่งที่ไม่ด้อยกว่าเดิม ลูกค้าต้องได้สิ่งที่ดีที่สุดจากคุณ ถ้าคุณให้สิ่งที่ดีที่สุด ทำไมลูกค้าจะไม่รักคุณ 3.ดูแลลูกน้องให้ดีที่สุด และ 4. ดูแลตัวคุณเอง

แนะนำผู้นำองค์กร

“สุวภา” มองว่า หากผู้นำองค์กรผ่านโจทย์แรกไปแล้ว คือรู้ว่าธุรกิจมีโอกาส แต่ไปกู้เงินธนาคารแล้วยังได้เงินไม่พอ ด่านที่ 2 คือ ต้องถามตัวเองว่า ทีมที่อยู่กับคุณ ใช่ทีมที่ควรไปกับคุณต่อไหม

“แต่ไม่ใช่โละหมด แล้วการโละที่เลวที่สุดคือให้เด็กๆ ไป ผู้ใหญ่อยู่ครบ ผู้ใหญ่นั่นแหละ ไม่ต้องเอาเงินเดือน แล้วเอาเงินให้เด็กไป เพราะว่าเขาลำบากกว่า เขามีโอกาสเรียนรู้ ขณะเดียวกัน ถ้าคุณเป็นน้องในที่ทำงาน แล้วบริษัทบอกขาดคุณก็ได้ คุณต้องรู้ตัวเอง”

“สุวภา” บอกว่า โจทย์คือทำยังไงเพื่อไม่ต้องไล่ทุกคนออก เพราะต้องไม่ลืมว่าการจ้างพนักงานใหม่ในเรทเดิมเป็นเรื่องยากมาก ดังนั้นจึงอาจใช้วิธีลดเงินกันคนละส่วน เพื่อรักษาสภาพคล่องกิจการ

คำแนะนำสำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเงินออม

ต้องอยู่อย่างประหยัดและมีความสุข คิดว่าชีวิตคนเรากินข้าววันละมื้อได้ แต่ต้องใช้การบริหารจัดการที่ดี เช่น ไปซื้อกับข้าวที่ตลาด ประมาณ 50-100 บาทก็ได้วัตถุดิบแล้ว ข้าวสาร 5 กิโลกรัม ราคาร้อยกว่าบาท กินได้เกือบครึ่งเดือน ผักก็ปลูกเอา ค่าน้ำค่าไฟตอนนี้รัฐบาลก็ลดให้

ขณะที่บางคนก็เริ่มขายของหน้าบ้าน หรือรับจ้างเอาของคนอื่นไปขาย เช่น ข้าวเหนียวเจ๊จง ห่อหนึ่งให้  7 บาท ถ้าคุณไปขายได้ 50 ห่อ 1 วันก็ได้ 350 บาทแล้ว

“พอเกิดเหตุการณ์ทุกคนลำบากหมด อย่าไปหวังว่าใครจะช่วยใคร ตัวตนของเราสำคัญที่สุด ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เราจะสุขหรือทุกข์ก็อยู่ที่เรา ถ้าเรามองว่ารอบนี้เจอกันหมด ไม่ว่าจะรวยหรือจน ยิ่งรอบนี้ยิ่งรวยยิ่งหนัก บริษัทยิ่งใหญ่ยิ่งโคตรหนัก เพราะต้องแบกพนักงาน แบกทุกอย่าง เขาเป็นเรือลำใหญ่ หันไปไหนไม่ได้ แต่เรา ในแง่คนตัวเล็กๆ เราบริหารจัดการตัวเราเองได้”

เคล็ดลับการบริหารจัดการการเงิน

เมื่อมีรายรับ ต้องออมเงินลงทุนก่อน ถึงจะเอาไปใช้จ่ายจ่าย แต่บางคนใช้ก่อน เหลือเท่าไหร่ค่อยออม ซึ่งมันมักไม่ค่อยเหลือ ที่โหดกว่านั้นคือใช้ล่วงหน้าอีก

“ง่ายที่สุดคือต้องมีเงินเก็บ 6 เดือน ตามหลักสูตรบอก 6 เดือนของค่าใช้จ่าย แต่พี่มาแรงกว่านั้น เอา 6 เดือนของรายรับเลย แนะนำให้ไปฝากประจำ 24 เดือนกับธนาคาร พอครบรอบแล้ว แต่ยังไม่แน่ใจสถานการณ์ก็ฝากต่อ ได้ดอกเบี้ย 2-3 เปอร์เซ็นต์ เงินทองไม่บูดไม่เน่าไม่ใช้ไม่เป็นไร

“สุวภา” บอกว่า กองทุนรวมก็เป็นทางเลือกที่ดี เพียงแต่ตอนนี้คนอาจไม่ค่อยสนใจหรือติดตาม ซึ่งวิธีการก็ง่ายมาก ถ้าเราฝากเงินกับธนาคารไหนก็เดินเข้าไปถามเลยว่า กองทุนหุ้นของธนาคาร อันไหนขายดีสุด อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าการลงทุนผิดพลาดได้

คำแนะนำสำหรับคนที่มีเงินสดหมุนเวียน

1.กอดเงินสดไว้ก่อน “สุวภา” เองก็แนะนำเพื่อนที่มีร้านอาหาร 40 สาขา ให้ปิดร้านเลย เอามัดจำคืน แล้วอยู่นิ่งๆ รอปีหน้าค่อยว่ากันใหม่

2.ทำออนไลน์ให้เป็นเรื่องเป็นราว

“นี่คือการจัดการในแง่ความเหมาะสม ความพอดี ไม่มีใครตอบได้ ตัวเจ้าของจะเป็นคนรู้ดีว่าทำอย่างไหนเวิร์ก ทำแบบไหนไม่เวิร์ก แต่ที่แย่ที่สุดคือไม่ยอมทำอะไร”

โอกาส “ช้อปปิ้ง” ของคนรวย

คนมีเงินตอนนี้ใครก็ลงทุน ดูอย่าง “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” แห่งเฟซบุ๊ก แต่คำถามคือในเมืองไทยควรจะลงทุนอะไร ซึ่งต้องเป็นเรื่องความชำนาญของแต่ละบุคคล

ยกตัวอย่าง คุณอาลก โลเฮีย ประธานและซีอีโอของไอวีแอล เริ่มจากการไปเทคโอเวอร์บริษัทที่ทำขวดเพ็ท ด้วยเงิน 20 ล้านเท่านั้นเอง วันนี้ไอวีแอลคือบริษัทที่มีการรวมธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ของโลก ทำขวดเพ็ท ผ้าอ้อม ไฟเบอร์กลาส สิ่งที่เกิดขึ้น

แนวคิดการเทคโอเวอร์ของคุณอาลกคือ 1.เป็นการเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ในธุรกิจที่ตัวเองชำนาญ 2.ได้สินทรัพย์เลยโดยไม่ต้องสร้างเอง 3.ได้พนักงานที่มีทักษะ

แนะนำคนทำออนไลน์

“ธรรมชาติดีที่สุด” ในโลกโซเชียล สิ่งที่ทุกคนกลัวที่สุดคือกลัวเฟค กลัวสิ่งที่ไม่จริง ซึ่งสิ่งที่ไม่จริงอาจจะยังพิสูจน์วันนี้ไม่ได้หรอก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ไม่จริงก็คือไม่จริง ถ้าจะมาทางโซเชียล มีอะไรก็ว่ากันตรงๆ จะได้ฐาน ได้ความมั่นใจ ต้องซื่อสัตย์ในงานที่ทำ

นอกจากนี้ คนที่จะทำออนไลน์ต้องสำรวจว่า 1.ตัวเองมีโอกาสเติบโตไหม 2.มีทีมหรือไม่ เพราะวันนี้คนเก่งหนึ่งคนทำทุกเรื่องไม่ได้ 3.มีฐานทุนพอสมควร 4.กระบวนการทำงานที่กล้าจะถูกแข่ง มีจิตใจที่อยากจะแข่ง ไม่กลัวการเปรียบเทียบ

แนะนำสำหรับคนที่หมดกำลังใจ

อย่างแรกสุด เจ้าของกิจการ ต้องรักษาจิตใจตัวเองก่อน รอบนี้คนจิตตกเยอะ คุณก็ไปดูอะไรที่มันสดชื่นหน่อย แล้วให้คิดว่าไม่มีทางที่โควิดจะอยู่ตลอดกาล เดี๋ยวมันก็จบ คำถามคือหลังจบจะเป็นยังไง เราเตรียมพร้อมแค่ไหน ถ้าเงินไม่เยอะ ใช้ความครีเอทีฟก็ได้

ยกตัวอย่างโรงงานสบู่แห่งหนึ่งมีสาขาที่อังกฤษกับอินเดีย พบว่าบางกล่องไม่มีสบู่ อังกฤษซื้อเครื่องตรวจจับ แต่อินเดียซื้อพัดลม เอามาเป่าดูว่ากล่องไหนมันปลิว แปลว่าไม่มีสบู่

รวมถึงการการบริหารจัดการเพื่อสร้างความแตกต่าง และสุดท้ายให้ศึกษาจากคนที่ประสบความสำเร็จแล้ว หรือเอาข้อมูลมานั่งดูว่าปีไหนคือปีที่ดีที่สุดของบริษัท เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข สร้างเป้าหมาย แล้วเดินตามเป้าหมาย

“เป็นคนชอบคุยเรื่อง business plan แต่คนจะบอกว่าคุยทำไม พรุ่งนี้ก็เปลี่ยนแล้ว แต่ความจริงคือ business plan ไม่ใช่สำหรับตัวคุณ แต่เป็นการสื่อสารกับทีมงานของคุณ ว่าคุณวางแผนจะทำอะไร แล้วปรึกษากับทีมว่าเห็นด้วยไหม ให้เขาลองทำ business plan ของเขาด้วยไหม แล้วมาประกอบร่างกัน ดูว่ามันใช่สิ่งที่เราเห็นในธุรกิจเราหรือเปล่า”

ชาเลนจ์ช่วงโควิด

ตอนนี้ “สุขภาพ” สำคัญกว่า “ความมั่งคั่ง” แต่ในฐานะนักบริหารทางการเงิน ชาเลนจ์สำคัญคือ “สุขภาพทางการเงิน” ลองมาดูสุขภาพทางการเงินกันไหม แต่ละคน ขอให้ชีวิตจากนี้ไปมีเงินเยอะกว่าเดิม และคำว่าเยอะกว่าเดิม ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินก็ได้ มีเวลาเยอะกว่าเดิม ทางเลือกที่เราเลือกได้เยอะกว่าเดิม มีเพื่อนที่เราอยากอยู่ด้วยมากกว่าเดิม มีครอบครัวที่เรารักอยู่ด้วยกันตลอดเวลา

“อะไรที่เงินซื้อได้ ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด สิ่งที่สำคัญที่สุดคือสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้ ความสัมพันธ์ ครอบครัว มิตรภาพ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความจริงใจ ความซื่อสัตย์ พวกนี้เงินซื้อไม่ได้ แต่มันต้องสร้างด้วยตัวเรา เพราะฉะนั้นวันนี้ สิ่งที่จะชาเลนจ์และท้าทาย คงอยากให้ชีวิตมีความสุข ในแบบที่เราเลือกได้เอง”