ค่าเงินบาทแข็งค่า หลังเฟดส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.93/95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (12/7) ที่ระดับ 34.01/03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวานนี้ (12/7) นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้มีการแถลงนโยบายการเงินในรอบครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ โดยระบุว่าพร้อมที่จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปหากตัวเลขเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ และให้ความคิดเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อคงยังไม่น่าจะเข้าใกล้ระดับเป้าหมายที่ 2% ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐในอนาคตนั้นจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามการฟื้นฟูของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐได้เปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ 12 เขต หรือ Beige Book ระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัวปานกลางในเดือนมิถุนายน โดยตลาดแรงงานอยู่ในภาวะตึงตัวมากขึ้น ขณะที่แรงงานกดดันเงินเฟ้อลดน้อยลง โดยเขตของเฟดส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวพอประมาณไปจนถึงปานกลาง ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า ส่วนการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 70% ของเศรษฐกิจสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นในหลาย ๆ เขตของเฟด นำโดยยอดค้าปลีก ไม่รวมยานยนต์ และการท่องเที่ยว เฟดระบุในรายงานอีกว่า การจ้างงานในเขตส่วนใหญ่ยังคงขยายตัวพอประมาณถึงปานกลาง โดยภาวะการจ้างงานในเขตแอตแลนตาและเซนต์หลุยส์นั้นทรงตัว

ในส่วนของนโยบายทรัมป์นั้น นายมิทช์ แมคคอนเนล ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐได้ประกาศเลื่อนวันพักสมัยการประชุมเดือนสิงหาคมของวุฒิสภาไปอีก 2 สัปดาห์ เพื่อเปิดโอกาสให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีเวลามากขึ้นในการพิจารณาร่างกฎหมายประกันสุขภาพฉบับใหม่ ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้เปิดเผยในวันนี้ว่า เขาไม่สามารถยอมรับความผิดหวังได้ หากสภาคองเกรสไม่ผ่านร่างกฎหมายประกันสุขภาพฉบับใหม่ พร้อมกล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่วุฒิสมาชิกรีพับลิกันจะต้องลงคะแนนเสียงสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับใหม่ เพื่อนำมาใช้แทนกฎหมายประกันสุขภาพแบับโอบามาแคร์ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 33.925-33.96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.94/96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (13/7) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1439/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (12/7) ที่ระดับ 1.1455/57 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเมื่อวานนี้ (12/7) สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า ตัวเลขกำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.3% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบรายเดือน และปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.0% เมื่อเทียบรายปี ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคของเยอรมันทรงตัวที่ระดับ 0.2% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และ 1.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี และดัชนีราคาผู้บริโภคฝรั่งเศสทรงตัวเช่นกันที่ระดับ 0.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยตัวเลขเศรษฐกิจของยูโรโซนมีการส่งสัญญาณความแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากผลการสำรวจธุรกรรมการจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรมการผลิตในเดือนมิถุนายนของกลุ่ม 19 ประเทศยูโรโซน ปรับตัวขึ้นที่ระดับ 57.4 ซึ่งถือว่าเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1403-1.1455 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1404/1.1406 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (13/7) เปิดตลาดที่ระดับ 113.04/06 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (12/7) ที่ระดับ 113.40/43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนในวันนี้ได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังจากที่ประธานเฟดส่งสัญญาณชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในคืนที่ผ่านมา (12/7) ส่งผลให้นักลงทุนหันมาซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคญี่ปุ่นยังคงทรงตัวที่ 0.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 112.88-113.53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 113.06/113.08 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมิถุนายน, ยอดค้าปลีกเดือนมิถุนายน, การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน, สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนพฤษภาคม และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกรกฎาคมจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.25/0.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.2/0.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ