ฝุ่นตลบ! “ชิงงบ”ฟื้นฟูโควิด 4 แสนล้าน อ้างอุ้มเศรษฐกิจฐานราก

เยียวยาเกษตรกร มาตรการ

ฝุ่นตลบรุมแย่งงบฯเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้าน คลัง-ธ.ก.ส.ขอ 1.55 แสนล้าน ตั้งกองทุนช่วยผู้ประกอบการรายเล็ก-ช่วยคนตกงานคืนถิ่น คมนาคมดันโปรเจ็กต์พัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง-โลจิสติกส์ ที่วืดใช้งบฯปี’64 เสียบ เกษตรฯดึง 9.5 หมื่นล้านอุ้มเกษตรกร มหาดไทยไม่พลาดแจม

แม้รัฐบาลจะกำหนดกรอบการใช้จ่ายเงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 วงเงินรวมไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท ไว้ชัดเจน แต่ช่วงนี้ถือเป็นช่วงฝุ่นตลบ เนื่องจากหลายหน่วยงานเตรียมเสนอขออนุมัติโครงการ ขอรับจัดสรรวงเงินก้อนดังกล่าว

ตั้งกองทุนช่วยรายเล็ก

ในส่วนกระทรวงการคลังจะขอใช้เงินกู้ 1.55 แสนล้านบาท แบ่งเป็น จัดตั้งกองทุนดูแลผู้ประกอบการคนตัวเล็ก เพื่อรักษาการจ้างงานไม่เกิน 1 แสนล้านบาท และจัดทำโครงการของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 5.5 หมื่นล้านบาท

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก แหล่งเงินมาจาก พ.ร.ก.เงินกู้ ในส่วนวงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท เน้นช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้ และไม่ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการจ่ายเงินเยียวยาก่อนหน้านี้

ช่วยคนตกงานคืนถิ่น

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ได้เตรียมโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและธุรกิจชุมชนสร้างไทย โดยขอใช้งบฯ 5.5 หมื่นล้านบาท เป็นโครงการรองรับแรงงานที่เดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงโควิดแพร่ระบาด

มี 3 โครงการย่อย 1) โครงการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและชุมชน โดยสร้างศูนย์การเรียนรู้ “โครงการ 459 มีกินมีใช้” 1,200 แห่ง พร้อมจัดสินเชื่อพิเศษสนับสนุน กลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับผลกระทบ 3 แสนราย และสร้างคนรุ่นใหม่ 5 แสนราย 2) โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านธุรกิจชุมชน เพิ่มประสิทธิภาพวิสาหกิจชุมชน 1.6 หมื่นกลุ่ม กลุ่มละไม่เกิน 1 ล้านบาท เพื่อพัฒนาด้านเทคโนโลยี ขับเคลื่อนธุรกิจชุมชนระดับหมู่บ้าน

3) โครงการสร้างความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจฐานราก สร้างหัวขบวนด้านการตลาด บริการทางการเกษตรและท่องเที่ยวชุมชน กลุ่มเป้าหมายสถาบันเกษตรกรกว่า 7,200 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร 1,000 แห่ง วิสาหกิจชุมชนที่พร้อมเป็นหัวขบวน 6,000 แห่ง และลูกค้าที่เป็นเอสเอ็มอี โดยใช้งบฯสนับสนุนสถาบันละไม่เกิน 3 ล้านบาท รวม 2.1 หมื่นล้านบาท

“รองรับแรงงานกลับภูมิลำเนาช่วงโควิดระบาด แล้วจะประกอบอาชีพเกษตรถาวร หลังโควิดคลี่คลาย 1.7 ล้านคน จากจำนวนคนตกงาน 7 ล้านคน ที่กลับภูมิลำเนามาทำการเกษตรราว 4 ล้านคน”

ขอ 9.5 หมื่นล้านอุ้มเกษตรกร

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงได้ทำโครงการฟื้นฟูภาคเกษตร จากผลกระทบแล้งและโควิด ภายใต้งบประมาณ 9.5 หมื่นล้าน แต่ในจำนวนนั้นมีโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางระยะที่ 2 วงเงิน 4.2 หมื่นล้านบาท รวมอยู่ด้วย หากตัดโครงการนี้ออกไป จะเหลือวงเงินฟื้นฟูอาชีพ สร้างฐานราก เพื่อเชื่อมโยงภาคเกษตร เข้ากับภาคอุตสาหกรรม ท่องเที่ยวและบริการ ไม่ถึง 5 หมื่นล้านบาท

รายงานข่าวระบุ สำหรับโครงการ 95,543.11 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ งบแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภาคการเกษตรจากวิกฤตโควิด-19 วงเงินประมาณ 61,531.53 ล้านบาท และเป็นงบป้องกันและแก้ปัญหาผลกระทบจากภัยแล้ง วงเงิน 34,011.57 ล้านบาท

สำหรับงบประมาณแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภาคการเกษตรจากวิกฤตโควิด-19 วงเงิน 61,531.53 ล้านบาท จะแบ่งเป็น การประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 จำนวน 35,196.65 ล้านบาท และสนับสนุนค่าครองชีพให้แก่ครัวเรือน เกษตรกร 15,362.3 ล้านบาท ด้วยการชะลอการขายยางของเกษตรกร

นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณไปช่วยเหลือพัฒนาอาชีพแรงงานคืนถิ่นและสร้างความเข้มแข็งสถาบันเกษตรกร 2,763.72 ล้านบาท ด้วยการสร้างชุมชนเข้มแข็งแบบครบวงจร รวมทั้งยังมีการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร จำนวน 392.45 ล้านบาท การบริหารจัดการสินค้าเกษตรและสร้างมูลค่าเพิ่ม จำนวน 1,326 ล้านบาท ด้วยการสนับสนุน อุปกรณ์และสิ่งก่อสร้างเพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตรกร เป็นต้น

คมนาคมลุยซ่อม-ปรับปรุงถนน

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า กรมยังไม่รับการประสานจากสภาพัฒน์ในการนำเสนอโครงการเพื่อขอใช้งบฯ พ.ร.ก.กู้เงิน วงเงิน 4 แสนล้านบาท ในส่วนของการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง-โลจิสติกส์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนทั่วประเทศ แต่เตรียมโครงการที่เข้าเกณฑ์เป็นโครงการขนาดเล็ก ใช้เวลาดำเนินการ 1 ปี ที่ถูกตัดออกจากงบฯปี 2564 กว่า 2,000 โครงการ วงเงิน 30,000-40,000 ล้านบาท เช่น โครงการซ่อมบำรุงถนน ปรับปรุงเส้นทางสู่แหล่งท่องเที่ยว ให้มีโครงสร้างพื้นฐานเข้าแหล่งท่องเที่ยวชุมชน และจ้างงานในพื้นที่ หากได้รับอนุมัติพร้อมเปิดประมูลทันที และเตรียมโครงการใหญ่วงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการขยายถนนขนาด 4 ช่องจราจร ที่ถูกตัดออกจากงบฯ 2564 รวม 68 โครงการ วงเงินลงทุน 60,000-70,000 ล้านบาท

มท.เร่งหามาตรการช่วยเหลือ

แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า อยู่ระหว่างทำแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน จากเงินกู้ 4 แสนล้านบาท โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการพัฒนาชุมชน หามาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แล้ว เน้นการจ้างงาน พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก จัดกิจกรรมอบรมฝึกอาชีพต่าง ๆ

เน้นกิจกรรม ศก.ในประเทศ

ด้านนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า วงเงิน 4 แสนล้านบาท จาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เป็นแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมนั้น จะใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้ง 2 ส่วน ทั้งการสร้างอนาคตให้กับประเทศ และแก้ไขปัญหาช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. 2563 เน้นการเข้าไปสร้างงาน สร้างรายได้ จากเดิมประเทศไทยใช้ยุทธศาสตร์การส่งออกเพื่อสร้างการเติบโต

ปั้นเซฟโซนดึงนักท่องเที่ยว

ส่วนด้านการเกษตร จะส่งออกอาหาร ผลผลิตทางการเกษตร และต่อไปจะต่อยอดอุตสาหกรรมชีวภาพในวง economy ที่มีมูลค่าสูง ทำให้ไทยมีการส่งออกและฐานการผลิตที่ยั่งยืน เน้นการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพ รวมทั้งให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานราก


นอกจากนี้จะสร้างความได้เปรียบด้านสาธารณสุข สร้างเซฟโซนดึงนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพเข้ามาในประเทศ มาเที่ยวในเชิงสุขภาพ ชักชวนประเทศต่าง ๆ ให้มาซื้ออาหารจากการผลิตของไทย โดยจะมีมาตรการในระยะต่อไป ทำให้ไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน น่าเข้ามาทำงาน จะเร่งทำโครงการให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย. จากนั้นโครงการจะเข้าสู่ระบบได้ตั้งแต่เดือน ก.ค.เป็นต้นไป