“ธปท.”เอกซเรย์คุมก่อหนี้ สั่งแบงก์รายงานทุกเดือน

ธปท.สั่งแบงก์-น็อนแบงก์ รายงานละเอียดยิบทั้งบัตรเครดิต-พีโลน ส่ง “ทุกเดือน” เกาะติดใกล้ชิดทั้งยอดสินเชื่อ การอนุมัติ วัดผลของมาตรการคุมก่อหนี้ใหม่ มั่นใจระยะยาวช่วยลดเอ็นพีแอลลง

นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงการติดตามผลหลังจากมีมาตรการดูแลบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ที่มีผลเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมานั้นว่า ล่าสุด ธปท.ได้ให้สถาบันการเงิน (แบงก์) และผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) จะต้องทำรายงานส่งเป็นรายเดือนให้แก่ ธปท.ด้วย โดยการรายงานดังกล่าวจะทำอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการอนุมัติสินเชื่อ (แอปพรูฟ) วงเงินสินเชื่อที่อนุมัติใหม่ และการลดการก่อหนี้ของแต่ละสถาบันเป็นอย่างไร เพื่อที่ ธปท.จะสามารถประเมินผลว่า ทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่อย่างไร ซึ่งปัจจุบันจะเห็นแบงก์เริ่มเข้มงวดในการให้สินเชื่อแล้ว

สมบูรณ์ จิตเป็นธม

ทั้งนี้ ธปท.เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยลดการก่อหนี้ครัวเรือนในระบบ โดยเฉพาะการก่อหนี้ใหม่ ๆ ที่ไม่จำเป็น รวมไปถึงในอนาคตอาจเห็นยอดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ทั้งระบบลดลงได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันเอ็นพีแอลทั้งระบบอยู่ที่ระดับ 2.9%

“เราพยายามชี้ให้เห็นจุดที่ต้องการลดหนี้ครัวเรือน ซึ่งแบงก์และน็อนแบงก์ก็ให้ความสำคัญ เพราะหากไม่ดูแลเรื่องดังกล่าวนี้ก็จะเป็นจุดอ่อนในระยะยาว และหนี้เสียที่เกิดขึ้นเป็นหนี้เป็นสินของคนอายุยังน้อย และหากเราก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ โดยที่ไม่แก้ไขสิ่งเหล่านี้ เราก็จะลำบาก ตอนนี้คนเป็นหนี้เร็วขึ้นเยอะขึ้น อายุแค่ 28-28 ก็เป็นหนี้กันแล้ว หนี้บ้าน หนี้บัตรเครดิต ขณะที่มูลค่าหนี้ก็สูงขึ้น เช่น กลุ่มนี้ในอดีตเคยมีหนี้บ้าน 5 หมื่นบาท เพิ่มมาเป็น 1 แสนบาท เป็นต้น และหากดูเอ็นพีแอลรวม พบว่า 1 ใน 5 ของคนที่เป็นหนี้และเป็นเอ็นพีแอลมาจากกลุ่มที่อายุยังน้อย จึงเป็นสิ่งที่ ธปท.กังวล” นายสมบูรณ์กล่าว

ด้านนางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุดปฏิบัติการ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ธปท.ได้ให้แบงก์และน็อนแบงก์ จัดทำรายงานเกี่ยวกับข้อมูลการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นรายเดือน ซึ่งยอมรับว่าหลังจาก ธปท.ออกมาตรการดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อลูกค้าใหม่และวงเงินสินเชื่อบุคคล (พีโลน) ของธนาคารมีทิศทางลดลง โดยเฉพาะวงเงินสินเชื่อบุคคลที่คาดว่าจะปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ปีนี้ น่าจะปรับตัวลดลงราว 5% จากเดิมสินเชื่อปล่อยใหม่ต่อปีจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2-3 พันล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่ายอดคงค้างสินเชื่อบุคคลสิ้นปีนี้ จะใกล้เคียงกับยอดคงค้างสิ้นปี 2559 ที่อยู่ราว 4 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปี 2561 คาดว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบมากขึ้น โดยประเมินว่ายอดปล่อยสินเชื่อใหม่จะลดลงอีกราว 10-20%

นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจบัตรเครดิต บมจ.บัตรกรุงไทย (เคทีซี) กล่าวว่า ในเบื้องต้นมาตรการดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อยอดสมัครบัตรใหม่ของเคทีซีลดลง หลังจากที่คาดว่าปีนี้จะมีลูกค้าใหม่ 4 แสนราย และอีกส่วนเป็นผลมาจากตลาดลูกค้าสินเชื่อที่เริ่มมีจำนวนจำกัด เพราะส่วนใหญ่ถือบัตรเกิน 3 ใบแล้ว ทำให้โอกาสในการถือบัตรใหม่มีลดน้อยลง ขณะที่ ณ สิ้น ส.ค. 2560 เคทีซีมีจำนวนลูกค้าใหม่ประมาณ 2 แสนราย