ค่าเงินดอลลาร์ทรงตัว เฟดส่งสัญญาณออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม

ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/5) ที่ระดับ 31.85/87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (20/5) ที่ระดับ 31.83/84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปรับตัวขึ้นขานรับคาดการณ์ที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ นอกจากนี้ตลาดยังได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนคาดหวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หลังจากรายงานการประชุมเฟดประจำเดือน เม.ย.บ่งขี้ว่ากรรมการเฟดส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

รายงานการประชุมของเฟดระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2 อาจจะทรุดตัวลงในอัตราที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคครัวเรือนที่ประสบปัญหาด้านการเงินมากที่สุด นอกจากนี้กรรมการเฟดยังแสดงความกังวลว่า การเลิกจ้างพนักงานแบบชั่วคราวอาจจะกลายเป็นการถาวร โดยพนักงานที่ถูกเลิกจ้างอาจจะสูญเสียทักษะพิเศษในการทำงาน และต้องออกจากตลาดแรงงานในที่สุด ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.83-31.88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.82/84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทได้รับปัจจัยบวกจากความคาดหวังการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์บางส่วน เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทยสังสัญญาณดีขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้โฆษกกระทรวงการคลัง นายลวรณ แสงสนิท เปิดเผยว่า ขณะนี้ทั้งสภาพัฒน์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังมองเศรษฐกิจไทยไปในทิศทางเดียวกันว่าได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างมาก ซึ่งทุกแห่งต่างคาดว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2563 จะติดลบมากที่สุดของปี ธุรกิจส่วนใหญ่ต้องปิดดำเนินการ แต่เชื่อว่าไตรมาส 3 และ 4 ของปี 63 จะติดลบน้อยกว่าไตราส 2 เพราะเริ่มมีการคลายล็อกทางเศรษฐกิจ สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหลังจากที่สถานการณ์การระบาดเข้าสู่ภาวะปกตินั้น นายลวรณกล่าวว่า แต่ละมาตรการจะต้องดูเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติมากที่สุด

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (21/5) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.0965/69 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (20/5) ที่ระดับ 1.0938/41 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยมาร์กิตเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเยอรมนีอยู่ที่ +36.8 ในเดือน พ.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.ที่ระดับ +34.5 ในส่วนของภาคบริการขั้นต้นอยู่ที่ +31.4 ในเดือน พ.ค. จากระดับ +18.2 ในเดือน เม.ย. ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0953-1.0988 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0971/74 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (21/5) เปิดตลาดที่ระดับ 107.71/74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (20/5) ที่ระดับ 107.88/91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยกระทรวงกรคลังญี่ปุ่นรายงานว่า ยอดส่งออกในเดือน เม.ย.ปรับตัวลดลง 21.9% เมื่อเทียบรายปี หลังจากปรับตัวลง 11.7% ในเดือน มี.ค. ทั้งนี้ยอดส่งออกจากญี่ปุ่นสู่สหรัฐปรับตัวลดลง 37.8% ในเดือน เม.ย. ซึ่งถือเป็นลดลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009 โดยยอดส่งออกรถยนต์สู่สหรัฐปรับตัวลง 65.8% เดือน เม.ย. เนื่องจากโรคระบาดส่งผลให้อุปสงค์รถยนต์, วัสดุอุตสาหกรรม และสินค้าอื่น ๆ ปรับลงทั่วโลก และปัจจัยนี้อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นถดถอยลงอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น ส่ผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะจัดการประชุมฉุกเฉินในวันศุกร์นี้ (22/5) เพื่อพิจารณามาตรการในการกระตุ้นให้สถาบันการเงินปล่อยกู้แก่บริษัทขนาดเล็ก และพิจารณาเรื่องการอัดฉีดเงินสดให้แก่บริษัททุกขนาดด้วย

นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตัดสินใจยกเลิกภาวะฉุกเฉินในจังหวัดทางตะวันตก ได้แก่ โอซาก้า เกียวโด และเฮียวโกะ หลังผู้เชี่ยวชาญประเมินแล้วว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่มีแนวโน้มลดลง โดยการประกาศผ่อนคลายภาวะฉุกเฉินดังกล่าวจะส่งผลให้เหลือเพียง 5 จังหวัดที่ยังอยู่ภายใต้ภาวะฉุกเฉิน แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นยังคงรุนแรงอยู่ เนื่องจากทั้ง 5 จังหวัดนั้นมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.49-107.84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.79/80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (21/5) ดัชนีการผลิตเดือน พ.ค.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย (21/5) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือน พ.ค.จากมาร์กิต (21/5) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือน พ.ค. จากมาร์กิต (21/5) ยอดขายบ้านมือสองเดือน เม.ย. (21/5) ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน เม.ย.จาก Conference Board (21/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.5/+0.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.0/+0.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ