ดอลลาร์สหรัฐฟื้นตัวหลังเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.35/37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (27/9) ที่ระดับ 33.29/31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 1.7% ในเดือนสิงหาคม หลังจากปรับตัวลดลง 6.8% ในเดือนกรกฎาคม โดยการดีดตัวของยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อเคร่องบินพาณิชย์ และรถยนต์ ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้านอาวุธ โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการตใช้จ่ายของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือนสิงหาคม โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบรายปี ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐานดีดตัวขึ้น 3.3% ในเดือนสิงหาคม นอกจากนี้เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นหลังจากนายแอริค โรเซนเกรน ได้สนับสนุนให้เฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจจะไม่อยู่ในภาวะที่ร้อนแรงเกินไปในวันข้างหน้า โดยการแสดงความคิดเห็นของนายโรเซนเกรนเป็นไปในทิศทางเดียวกับนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดซึ่งกล่าวสุนทรพจน์ที่เมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่เหมาะสมหากเฟดจะเดินหน้าคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป ถึงแม้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐจะยังอยู่ในทิศทางที่ไม่แน่นอนก็ตาม ทั้งนี้ ถ้อยแถลงของนางเยลเลนส่งผลให้เกิดกระแสคาดการณ์เป็นวงกว้างในตลาดการเงินว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. โดย CME Group ระบุว่า จากการใช้เครื่องมือ Fed Watch วิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ พบว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่ามีโอกาส 80% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้

ในส่วนของประเทศไทยนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้เพิ่มเป็น 3.8% จากเดิม 3.5% หลังเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ชัดเจนขึ้นจากการส่งออกสินค้าและบริการที่ปรับดีขึ้น รวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่องและเริ่มกระจายตัวมากขึ้น พร้อมปรับประมาณการมูลค่าการส่งออกของไทยในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 8% จากเดิมที่ 5% โดยมองว่าการส่งออกขยายตัวดีขึ้นสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เข้มแข็งมากขึ้น ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 33.28-33.49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.39/40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (28/9) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1747/50 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (27/9) ที่ระดับ 1.1728/31 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจากรัฐบาลฝรั่งเศสภายใต้การนำของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครอง ได้เปิดเผยร่างงบประมาณประจำปี 2561 ฉบับแรก ซึ่งระบุเป้าหมายในการลดการใช้จ่ายภาครัฐและการจัดเก็บภาษี ซึ่งร่างงบประมาณดังกล่าวยังมีเป้าหมายหนุนอำนาจการใช้จ่ายของคนทำงานให้พุ่งสูง โดยใช้วิธีลดการเก็บภาษี 7 พันล้านยูโรในปีหน้า ส่งผลให้ยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาหลังจากอ่อนค่าไปที่ระดับ 1.1719 จากกระแสการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1721-1.1773 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1769/71 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (28/9) เปิดตลาดที่ระดับ 112.89/91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (27/9) ที่ระดับ 113.04/07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลงหลังจากนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เน้นย้ำว่าเฟดยังคงเดินหน้านโยบายคุมเข้มการเงินต่อไป เพราะเศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรับมือกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด นางเยลเลนยังได้กล่าวอีกว่า การที่เฟดชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไปเพราะตัวเลขเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำนั้น อาจจะเป็นการพิจารณาที่ไม่รอบคอบเพียงพอ ส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าไปถึง 113.26 ก่อนที่จะมีแรงเทขายทำกำไรออกมาในวันนี้ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 112.70-113.19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 112.74/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานของสหรัฐ (29/9) และตัวเลข GDP (29/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.7/-0.35 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 2.5/3.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ