“วิรไท” เตือนวิกฤตหลังโควิดโจทย์ใหญ่โยก “คน-ทุน” สร้างเศรษฐกิจใหม่

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ

“ผู้ว่าแบงก์ชาติ” ส่งสัญญาณเตือนเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ห่วงปัญหา “หนี้ครัวเรือน-หนี้ธุรกิจ” เกินกำลังดันหนี้เสียพุ่งมหาศาล เร่งประสานแบงก์พาณิชย์ลุยปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมหาแนวร่วมจัดระเบียบธุรกิจใหม่

เผยโจทย์ใหญ่ประเทศต้องปรับองคาพยพ “แรงงาน-เงินทุน” สร้างธุรกิจเซ็กเตอร์ใหม่ที่เป็นอนาคตของประเทศ รับมือโลกหลังโควิด “คนตกงาน-กิจการปิดตัว” เพิ่มขึ้น ยอมรับแบงก์ชาติต้องทำเมนูเครื่องมือใหม่ ๆ มาดูแลปัญหาแบบ “นอกกรอบ” เผยเทรนด์ดอกเบี้ยต่ำติดดินไปอีกนาน ส่งผล “เศรษฐกิจจริง” กับ “ตลาดเงิน” แยกตัวกัน ตลาดเสี่ยงเจอความผันผวนรุนแรงมากขึ้น

วิกฤตนี้อีกนาน

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพิ่งจะมีมติลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ลงมาอยู่ที่ 0.50% ว่า วิกฤตครั้งนี้ไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจ แต่เป็นวิกฤตที่เกิดจากด้านสาธารณสุข และมีผลกว้างไกลมากไปทั้งโลก และถึงแม้จะควบคุมสถานการณ์โควิดในประเทศได้ดี แต่ประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจแบบเปิด ค้าขายทั่วโลก พึ่งพาสัดส่วนการท่องเที่ยวที่สูงมาก ขณะที่สถานการณ์การระบาดทั่วโลกยังมีแนวโน้มที่ควบคุมไม่ได้ กนง.จึงมองว่าจะมีผลกระทบกลับมาที่ระบบเศรษฐกิจไทยที่จะต้องใช้เวลาอีกสักระยะ

สำหรับเรื่อง “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” เป็นตัวเสริมลดภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย ทั้งภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจทั้งเอสเอ็มอีและธุรกิจขนาดใหญ่ รวมทั้งลดต้นทุนให้กับรัฐบาล ซึ่งไม่เคยกู้เงินได้ถูกได้เท่านี้ในประวัติศาสตร์ อัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 2 ปี 0.6%

“สถานการณ์วิกฤตแบบนี้พระเอกคือนโยบายการคลัง เพราะคนขาดรายได้ วิธีการคือจะต้องเข้าไปเยียวยาทางด้านเพิ่มรายได้ ซึ่งรัฐบาลก็ค่อนข้างมูฟเร็ว ซึ่งมีหลายมาตรการ และเป็นขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ สอดคล้องกับปัญหาที่เผชิญ ซึ่งมาตรการทางคลังสามารถทำเฉพาะกลุ่มเป้าหมายได้ เช่น การเยียวยาแก้ปัญหาการเงิน แก้ปัญหาดูแลคนตกงาน ส่วนตัวอยากเห็นการใช้งบประมาณในการจ้างงานระดับ “ล้านตำแหน่ง” เพราะวิกฤตครั้งนี้มีคนตกงานจำนวนมาก โดยเฉพาะการจ้างงานตามภูมิสังคมต่างจังหวัด เช่น การจ้างอาสามัครดูแลผู้สูงอายุประจำหมู่บ้านทั่วประเทศ ซึ่งมี 7 หมื่นหมู่บ้าน อย่างน้อยก็ 7 หมื่นตำแหน่ง หรือจ้างงานเด็กจบใหม่มาทำเรื่องระบบบัญชี ระบบการเงินของกองทุนหมู่บ้าน แม้แต่เรื่องทำฐานข้อมูลเกษตร และฐานข้อมูลระดับท้องถิ่น ซึ่งประเทศไทยยังขาดมาก”

ธุรกิจช็อก “ขาดสภาพคล่อง”

ขณะที่มาตรการทางด้านการเงินและสถาบันการเงิน (financial policy) ก็เป็นมาตรการสำคัญ เช่น เรื่องการพักชำระหนี้ เลื่อนการชำระหนี้ เพราะวิกฤตแบบนี้ทำให้รายได้หายไปเลย การเลื่อนชำระหนี้และส่งเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้เป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่ง ธปท.แก้เกณฑ์เยอะมาก เพื่อที่จะทำให้ธนาคารสามารถเข้าไปปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งถ้าเป็นสถานการณ์ปกติทำไม่ได้และไม่ควรทำ

“ครั้งนี้เป็นวิกฤตนอกกรอบจริง ๆ เพราะปกติคงไม่มีธนาคารกลางประเทศไหนออกมาบอกให้ประชาชนไม่ต้องชำระหนี้ ให้ยืดการชำระหนี้ แต่เพราะวิกฤตครั้งนี้ทำให้เกิดขาดสภาพคล่องทันที”

ตัวเลขล่าสุดประชาชนที่ได้รับการพักและเลื่อนการชำระหนี้อยู่ที่ 6.1 ล้านล้านบาท หรือ 13.8 ล้านคน แต่ถ้าคนที่ยังมีความสามารถในการจ่ายก็ต้องจ่ายแบบเดิม ไม่ควรจะมีวัฒนธรรมจงใจผิดนัดชำระหนี้ (moral hazard) เพราะแบงก์มีรายจ่ายที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ฝากเงิน แต่คนที่จ่ายไม่ได้ แบงก์ก็ต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ผู้ว่าการ ธปท.อธิบายว่า ภาพใหญ่ของมาตรการเวลานี้คือการแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่อง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ Mutual Fund Liquidity Facility (MFLF) เสริมสภาพคล่องให้กองทุนรวมตราสารหนี้ หรือกองทุน BSF สร้างเสถียรภาพตลาดหุ้นกู้ และซอฟต์โลนเพื่อเติมสภาพคล่องให้ธุรกิจ

บี้แบงก์เร่งปล่อยซอฟต์โลน

สำหรับซอฟต์โลน ธปท. 5 แสนล้านบาท เป้าหมายคือช่วยคนที่ขาดสภาพคล่อง และจำเป็นต้องได้สภาพคล่องเพิ่มเมื่อสภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว ซึ่งผ่านไป 1 เดือนอนุมัติไป 5 หมื่นล้านบาท ก็ถือว่าการทำงานของแบงก์พาณิชย์ช้าเกินไป เพราะธุรกิจกำลังมีปัญหาต้องการสภาพคล่อง ตอนนี้ต้องส่งสัญญาณให้แบงก์เร่งปล่อยซอฟต์โลน เพราะลูกหนี้เอสเอ็มอีส่วนใหญ่จะมีหลักประกัน

อยู่แล้ว ดังนั้นการปล่อยเพิ่มควรจะต้องทำ ตอนนี้ก็ขอให้ทุกแบงก์ทำ product program formula เป็นสูตรที่ชัดเจน ให้มีกระบวนการอนุมัติโดยเร็ว รวมทั้งให้มีการสื่อสารไปยังพนักงานสาขาทั่วประเทศที่ชัดเจน เพราะเราได้รับเรื่องร้องเรียนเยอะมาก เช่น ไปขอซอฟต์โลนที่สาขา เจ้าหน้าที่บอกว่าหมดแล้ว

“ไม่ได้บอกว่าจะต้องปล่อยให้หมด 5 แสนล้านใน 1 เดือน แต่ตอนนี้ช้าไป ผมไม่แฮปปี้ ซึ่งบางแบงก์ที่มีสภาพคล่องของตัวเองอยู่มาก ก็ให้ลูกหนี้ไปใช้สภาพคล่องของตัวเอง แต่ลูกหนี้ต้องจ่าย 4% มันไม่ถูกต้อง เพราะซอฟต์โลนแบงก์ชาติดอกเบี้ย 2% ซึ่งเราอยากช่วยลูกหนี้ อย่างไรก็ตามในสภาวะแบบนี้ ความยากคือจะต้องบาลานซ์ 3 อย่างคือ

1.ช่วยลูกหนี้ให้ได้สภาพคล่อง เพื่อก้าวข้ามความยากลำบากโดยเฉพาะลูกหนี้ที่มีศักยภาพ

2.ต้องไม่ทำให้สถาบันการเงินมีปัญหาในระยะยาว เพราะถ้าสถาบันการเงินมีปัญหาจะเกิดปัญหาวิกฤตในสถาบันการเงิน ทำให้ยิ่งมาซ้ำเติม การฟื้นตัวจะยิ่งยาก

3.ต้องดูภาระการคลังรัฐบาล เพราะรัฐบาลมาช่วยค้ำประกันสินเชื่อชดเชยความเสียหาย ถ้าเป็นหนี้เสียขึ้นมา จึงเป็นความยากของทุก ๆ ประเทศ เป็นความยากของกระทรวงการคลัง ความยากของแบงก์ชาติ เป็นความยากของผู้ทำนโยบายในภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูง

“วันนี้เราได้อานิสงส์มากจากการที่เราทำให้สถาบันการเงินไทยเข้มแข็ง ต้องชื่นชมผู้บริหารแบงก์ชาติรุ่นก่อน ๆ ที่ยึดหลักเกณฑ์ กฎกติกาเข้มแข็ง ให้แบงก์ตั้งสำรองเยอะ ให้แบงก์มีกองเงินทุนเยอะ ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีสถานการณ์โควิด ทำให้วันนี้แบงก์สามารถมาช่วยเลื่อนการชำระหนี้ได้ ถ้าแบงก์ไม่เข้มแข็งทำไม่ได้”

จัดระเบียบธุรกิจประเทศใหม่

อย่างไรก็ตามเพราะความไม่แน่นอนสูงว่าโควิดจะไปยังไงต่อ ก็ต้องยอมรับว่า เป็นความยากในบางอุตสาหกรรม เช่น โรงแรม คงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่กว่าจะมีนักท่องเที่ยวกลับมาปีละ 40 ล้านคน เพราะการเดินทางข้ามประเทศไม่เหมือนเดิม ขณะที่คาพาซิตี้ธุรกิจโรงแรมล้นเกิน แบงก์จึงต้องมีนโยบายชัดเจนว่าโรงแรมลักษณะไหนที่มีโอกาสทางธุรกิจ แบงก์รับความเสี่ยงได้ และควรจะให้สินเชื่อเพิ่ม โรงแรมบางประเภทอาจจะต้องไปสู่การปรับโครงสร้างหนี้มากกว่าให้สินเชื่อเพิ่ม เพราะบางอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนโดยสิ้นเชิง

“โลกหลังโควิดจะไม่เหมือนเดิม เรื่องการปรับตัวให้ทันกับโลกหลังโควิดเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะโยงกับ credit risk การสร้างความมั่นใจให้สถาบันการเงินที่จะปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติม”

โจทย์ใหญ่หลังโควิด-19

นายวิรไทกล่าวว่า โจทย์ใหญ่ของประเทศไทยขณะนี้ คือทำให้เกิดกระบวนการโลกข้างหน้า หลังโควิดโครงสร้างเศรษฐกิจควรจะให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมไหน หรือภาคเศรษฐกิจไหน และส่งเสริมให้มีการปรับตัวโดยเร็ว รวมทั้งการย้ายทรัพยากรทั้ง “แรงงาน-เงินทุน” จากเซ็กเตอร์หลักในช่วงก่อนโควิด ไปสู่เซ็กเตอร์ใหม่ที่สอดคล้องกับโลกหลังโควิด และที่สำคัญคือกฎเกณฑ์ กติกาของภาครัฐจะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายทรัพยากร อย่างเช่นปัจจุบันการขอใบอนุญาตตั้งมหาวิทยาลัยยังมีเกณฑ์ว่า จะต้องมีขนาดพื้นที่เท่าไร ขณะที่ระบบการศึกษาไปสู่โลกดิจิทัลแล้ว ขนาดของพื้นที่จะสำคัญอย่างไร

“ต้องบอกว่า สาธารณสุขของเราค่อนข้างดี สามารถคอนโทรลโควิด ขณะที่มาตรการเยียวยาของรัฐบาล ของภาคการเงินที่เร่งทำก็ช่วยบรรเทาไปได้ระดับหนึ่ง ช่วงที่ผ่านมาเราช่วยกันดับไฟ แต่โจทย์ใหญ่ข้างหน้า คือจะต้องมาช่วยกันคิดว่าโลกหลังโควิดจะต้องให้น้ำหนักกับเรื่องอะไร และจะช่วยปรับองคาพยพโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจให้ทันกับโลกหลังโควิดอย่างไร ซึ่งเป็น agenda ใหญ่ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า”

ขณะที่ในภาคการเงินก็ต้องมาคิดเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ ทรัพยากรต่าง ๆ ที่ลงทุนไป การฟื้นฟูกิจการ กระบวนการต่าง ๆ จะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้สามารถย้ายทรัพยากรไปสู่เซ็กเตอร์ที่สอดคล้องกับโลกหลังโควิด

ดอกเบี้ยต่ำติดดินไปอีกนาน

ขณะที่ภาพของโลกการเงินหลังโควิด-19 นายวิรไทกล่าวว่า ภาพใหญ่ของระบบการเงินโลก อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับที่ต่ำต่อเนื่องไปนาน ก่อนหน้านี้คาดหวังว่าดอกเบี้ยค่อย ๆ ปรับขึ้นสู่ระดับปกติมากขึ้น แต่ตอนนี้นโยบายทุกประเทศที่จะช่วยให้ก้าวผ่านไปได้คือ “การอัดฉีดสภาพคล่อง” ทำให้อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำไปอีกนาน

“ผลจากที่ดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน และสภาพคล่องในระบบมีจำนวนมากสิ่งที่จะเผชิญมากขึ้นคือความผันผวนของตลาดการเงินจะสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะเวลาที่สภาพคล่องทางการเงินเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณธุรกรรมภาคเศรษฐกิจจริงน้อยลง สภาพคล่องจะเคลื่อนย้ายได้เร็วและแรง เช่น เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนจะเห็นได้ชัดว่า ธุรกรรมจริงการส่งออกลด การนำเข้าลด เศรษฐกิจจริงลด การท่องเที่ยวลด นี่คือธุรกรรมเกี่ยวข้องเงินตราที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจจริง แต่ขณะเดียวกันปริมาณเงินในโลกมันเยอะ และเคลื่อนย้ายเร็วมากขึ้น จึงทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีโอกาสที่จะผันผวนได้สูงในโลกข้างหน้า”

รวมทั้งตลาดเงินตลาดทุน ทำไมดาวโจนส์ยังอยู่ 24,000 จุด ทั้งที่เศรษฐกิจสหรัฐจะติดลบมหาศาล เพราะเกิดการแบ่งแยกระหว่างภาคเศรษฐกิจจริงและตลาดการเงิน ซึ่งคาดหวังว่าจะมีการเคลื่อนไหวความผันผวนที่รุนแรง ขึ้น ๆ ลง ๆ ได้แรง

“ตลาดเงินตลาดทุนหลังโควิดจะยิ่งมีความผันผวนมากขึ้น ซึ่ง ธปท.ก็ต้องดูแลมากขึ้น และต้องมีมาตรการที่มาดูแลแบบนอกกรอบด้วย จะต้องมีเมนูลิสต์เครื่องมือดูแลที่เยอะขึ้น”

รับมือ “หนี้เสีย” พุ่งหลังโควิด

ผู้ว่าการแบงก์ชาติกล่าวว่า โจทย์ที่สำคัญอีกอย่างคือ “หนี้” จะเพิ่มมากขึ้น จากเดิมก่อนโควิดก็มีเยอะอยู่แล้ว หนี้ทั้งโลกจะสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีโลก หนี้ครัวเรือน หนี้ภาคธุรกิจ หลังโควิดหนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้นทุกประเทศอย่างมาก เพราะเป็นกลไกเดียวที่จะกระตุ้นทางด้านศรษฐกิจ หนี้เอกชนอาจจะไม่เพิ่มขึ้นเร็ว แต่จะมีหนี้เสียจำนวนมาก

“วันนี้ประเทศไทยในภาพแมคโครดีกว่าหลายประเทศมาก เพราะเรามีภูมิคุ้มกันภาพใหญ่ค่อนข้างดี หนี้สาธารณะก่อนโควิดอยู่ที่ 43-44% ต่อจีดีพี ถือว่าดีมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศในตลาดเกิดใหม่ ทำให้มีโอกาสที่จะทำนโยบายการคลังได้อีกเยอะ และหนี้ต่างประเทศต่ำมาก โดยหนี้ของรัฐบาลประมาณ 97-98% เป็นหนี้รูปเงินบาท ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง แบงก์มีความเข้มแข็ง อันนี้เป็นกันชนและภูมิคุ้มกันระดับแมคโครของประเทศ”

แม้ว่าหลังโควิดหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ ไม่คิดว่าอยู่ในระดับที่น่ากังวล สถาบันการเงินได้รับผลกระทบจากเอ็นพีแอลมากินส่วนทุนมากขึ้น แต่อยู่ในวิสัยที่รับได้ ถ้าบริหารจัดการเรื่องโควิดได้ดี และเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยเร็ว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือหนี้ของประชาชน หนี้ครัวเรือน หนี้ภาคธุรกิจ ซึ่งก็วนกลับมาเรื่องของการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังนั้นนโยบายของ ธปท.ในเฟสถัดไป

เมื่อก้าวผ่านเรื่องการจัดการสภาพคล่องเฉพาะหน้าแล้ว จะต้องเน้นเรื่องความร่วมมืกับสถาบันการเงินในเรื่องของการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เร็ว แบงก์ต้องเข้าไปช่วยรายย่อยและเอสเอ็มอีมากขึ้น เช่น กรณีรายย่อยบ้านผ่อน 20 ปี ยืดออกไปเป็น 25 ปีได้ก็ลดภาระได้ หนี้บัตรเครดิตก็แปลงเป็นหนี้ระยะยาว ผ่อนต่อเดือนน้อยลง


พวกนี้อยู่ในวิสัยที่ทำเป็นโปรดักต์โปรแกรม ดังนั้นในเมสเซจของ ธปท. ทุกอันที่ออกมาตรการเรื่องการพักชำระหนี้ เลื่อนการชำระหนี้ เน้นย้ำและคาดหวังว่าธนาคารต้องปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ไม่ใช่ว่าผ่านไป 3 เดือนและกลับมาคิดเงื่อนไขแบบเดิม ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า จาก มี.ค. 2563 ธปท.คาดว่าปีนี้จีดีพีจะ -5.3% แต่แนวโน้มเศรษฐกิจหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่ง ธปท.จะรีวิวอีกครั้ง มิ.ย. ขึ้นกับว่าจะมีมาตรการอะไรออกมาอีกหรือเปล่า