ดอลลาร์แข็งค่า หลังนักลงทุนกังวลสงครามการค้าสหรัฐ-จีน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 25 พฤษภาคม  2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/5) ที่ระดับ 31.92/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (22/5) ที่ระดับ 31.88/90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลา์ปรับตัวในทิศทางแข็งค่าหลังนักลงทุนหันเข้าถือเงินดอลลาร์ ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยหลังกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างสหรัฐ-จีนที่มากขึ้น หลังนายหวัง เฉิน รองประธานคณะกรรมาธิการประจำสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ได้เสนอกฎหมายใหม่ในวันศุกร์ที่ผ่านมา (22/5) ระบุให้ฮ่องกงต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติโดยเร็ว ภายใต้รัฐธรรมมนูญฉบับย่อซึ่งเป็นกฎหมายพื้นฐานของฮ่องกง

ซึ่งก่อนหน้านี้ความสัมพันธ์ของสหรัฐและจีนเริ่มตึงเครียดมากขึ้น จากทางด้านวุฒิสภาสหรัฐได้มีมติในการอนุมัติร่างกฎหมายบริษัทสัญชาติจีนที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐ จะถูกถอดถอนออกจากตลาดและอาจทำให้บริษัทจีนไม่สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐได้ในอนาคต อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังคงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยล่าสุดนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้กล่าวปราศรัยในที่ประชุมวันศุกร์ (22/5) ว่าการพยากรณ์เศรษฐกิจของสหรัฐต่อจากนี้จะลำบาก เนื่องจากปัจจัยที่ไม่สามารถคาดการณ์มีมากขึ้น ไม่เพียงแต่คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจของสหรัฐ แต่รวมไปถึงหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ การจ้างงานและภาคการบริโภคจะตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่อย่างไร

จากการปราศรัยครั้งนี้นายเจอโรม พาวเวล ไม่ได้ส่งสัญญาณต่อทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคตแต่อย่างไร อย่างไรก็ตามนายริชาร์ด คลาริต้า รองประธานกลางสหรัฐ (เฟด) ได้กล่าวในที่ประชุมว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะใช้เครื่องมือทั้งหมดเพื่อปกป้องเศรษฐกิจสหรัฐ และส่งเสริมการฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.88-32.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.96/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/5) ที่ระดับ 1.0897/01 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/5) ที่ระดับ 1.0891/95 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินยูโรอ่อนค่าจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับรายงานการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปเดือนเมษายนคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในยูโรโซนอาจไม่สามารถฟื้นตัวได้โดยเร็ว คณะกรรมการกำหนดนโยบายได้ตัดสินใจในที่ประชุมเพื่อลดเงื่อนไขของเงินกู้ยืมระยะยาวของธนาคารพาณิชย์และนำเสนอเครื่องมือเพื่อเพิ่มสภาพคล่องแบบใหม่

ทั้งนี้ในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มวงเงินสำหรับมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ เช่น โครงการเข้าซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติม โดยนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปจะเพิ่มโครงการเข้าซื้อพันธบัตรฉุกเฉินมูลค่า 750 พันล้านยูโร (815 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าหลังสำนักงานสถิติแห่ชาติของเยอรมนีรายงานถึงการหดตัวของภาคการลงทุน การบริโภคส่วนบุคคลและภาคการส่งออกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เยอรมนีเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยภาคการลงทุนหดตัว 6.9%, การบริโภคส่วนบุคคลหดตัว 3.2% และการส่งออกหดตัว 3.1% ในไตรมาส 1/63 โดยทั้งหมดเมื่อนำมาคำนวณเป็นการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเยอรมนี (GDP) หดตัว 2.2% ในไตรมาส 1/63 หดตัวสูงสุดตั้งแต่การรมประเทศของเยอรมนีในปี 2533 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0870-1.0901 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่สุดับ 1.0888/90 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/5) ที่ระดับ 107.64/67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/5) ที่ระดับ 107.47/49 เยน/ดอลลาร์ ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงหลังดัชนีราคาผู้บริโภคของญี่ปุ่น เดือนเษยนเผยหดตัวกว่าที่คาดการณ์และหดตัวครั้งแรกในรอบ 3 ปี อย่างไรก็ตามการอ่อนค่าของค่าเงินเยนยังคงถูกจำกัดจากธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ขยายกำหนดเวลาโครงการเข้าซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชน ไปจนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 เพื่อต่อสู้กับผลกระทบทางศรษฐกิจที่เกิดจากไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.52-107.77 เยน/ดอลลาร์หรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.73/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ เดือนพฤษภาคม (26/5), ยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐเดือนเมษายน (26/5), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทย เดือนเมษายน (27/5), การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของสหรัฐไตรมาส 1/63 (28/5), ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐเดือนเมษายน (28/5), ยอดขายบ้านที่รอปิดการขายของสหรัฐเดือนเมษายน (28/5), จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ (28/5), ดัชนีราคาผู้บริโภคเยอรมนี เดือนพฤษภาคม (28/5), ดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐานของสหรัฐ เดือนเมษายน (29/5), ดัชนราคาผู้บริโภคของยูโรโซนเดือนพฤษภาคม (29/5), ดัชนียอดค้าปลีกของญี่ปุ่น เดือนเมษายน (29/5), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเดือนเมษายน (29/5), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนเดือนพฤษภาคม (29/3), ดัชนียอดค้าปลีกของเยอรมนี เดือนเมษายน (29/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.45/+0.65 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.30/+1.40 สตางค์/ดดอลลาร์สหรัฐ