ดอลลาร์อ่อนค่าลง หลังดัชนีความเชื่อมั่นดีเกินคาด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/5) ที่ระดับ 31.87/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (26/5) ที่ระดับ 31.87/89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยดัชนีดอลลาร์ปรับตัวในทิศทางอ่อนค่าหลังเผยตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญดีกว่าคาดในช่วงคืนที่ผ่านมา คลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ระบุดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ ขยายตัวสู่ระดับ 86.6 ในเดือนพฤษภาคม จากระดับ 85.7 ในเดือนเมษายน และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 82.3 ผลสำรวจของเอสแอนด์พี คอร์โลจิก เคส ชิลเลอร์ ระบุดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐ ขยายตัว 4.4% ในเดือนมีนาคม จากเดิมขยายตัว 4.2% ในเดือนกุมภาพันธ์โดยราคาบ้านได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งของผู้ซื้อบ้าน, สต๊อกบ้านที่ตึงตัว และอัตราดอกเบี้ยจำนองที่ระดับต่ำ, กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ รายงานยอดขายบ้านใหม่เพิ่มขึ้นเกือบ 1% ในเดือนเมษายน สวนทางกับที่คาดการณ์ว่ายอดขายจะดิ่งลง 22%

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงมีความกังวลเรื่องความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน หลังสำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานในวันอังคาร (26/5) ว่ากระทรวงการคลังสหรัฐ มีแผนที่จะออกมาตรการควบคุมการทำธุรกรรมและการแช่แข็งสินทรัพย์ของเจ้าหน้าที่และธุรกิจของจีน หากจีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่เพื่อสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองฮ่องกง รวมไปถึงการพิจารณาเข้าควบคุมใบอนุญาตเข้าเมือง (วีซ่า) ของเจ้าหน้าที่จีน พร้อมทั้งประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการคว่ำบาตรกับจีนและจะประกาศมาตรการดังกล่าวในสัปดาห์นี้

สำหรับปัจจัยในประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมคือเมษายนอยู่ที่ระดับ 79.04 หดตัวลง 17.21% อย่างไรก็ตาม ยังคงหดตัวน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะหดตัว 19.55% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.84-31.89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.85/87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/5) ที่ระดับ 1.0971/73 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (26/5) ที่ระดับ 1.0957/60 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นตามการคาดหวังของนักลงทุนที่ว่าคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) จะเปิดเผยแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นภายในวันนี้ (27/5) แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจคครั้งนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลจากการออกหนี้สาธารณะเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมของประเทศอิตาลีและสเปนได้ ในระหว่างวันค่าเงินยูโรอ่อนค่าเล็กน้อยจากการเปิดเผยรายงานความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในเดือนพฤษภาคมของประเทศฝรั่งเศส เผยขยายตัวอยู่ที่ระดับ 70 จุด จากที่คาดการณ์ไว้จะขยายตัวขึ้นมาอยู่ที่ 85 จุด ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0932-1.0990 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0936/38 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/5) ที่ระดับ 107.48/50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (26/5) ที่ระดับ 107.67/70 เยน/ดอลลาร์ ค่าเงินเยนเริ่มปรับตัวแข็งค่าขึ้นหลังนักลงทุนหันเข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัยบางส่วน เนื่องจากมีความกังวลว่าสหรัฐอาจคว่ำบาตรจีน หากจีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่เพื่อสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองฮ่องกง โดยล่าสุดตำรวจปราบปรามจลาจลหลายร้อยคนเตรียมเข้ายึดพื้นที่สภานิติบัญญัติของฮ่องกง เพื่อควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบจากเหตุการณ์ประท้วง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.36-107.68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.65/67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของสหรัฐ ไตรมาส 1/63 (28/5), ดัชนีราคาผู้บริโภคของเยอรมนี เดือนพฤษภาคม (28/5), ดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐานของสหรัฐเดือนเมษายน (29/5), ดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซน เดือนพฤษภาคม (29/5), ดัชนียอดค้าปลีกของญี่ปุ่น เดือนเมษายน (29/5), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เดือนเมษายน (29/5), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน เดือนพฤษภาคม (29/3), ดัชนียอดค้าปลีกของเยอรมนี เดือนเมษายน (29/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.4/+0.55 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.35/+1.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ