รับมือ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว สไตล์ SME

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ ธนาคารกสิกรไทย

แรงงานต่างด้าวกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในโครงสร้างและการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะธุรกิจที่ใช้กำลังแรงงานสูง เช่น รับเหมาก่อสร้าง การให้บริการ การเกษตร และประมง เนื่องจากค่านิยมของคนไทยรุ่นใหม่เลือกทำงานที่ใช้กำลังน้อยกว่า

อีกทั้งประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้จำนวนแรงงานที่เข้าสู่ตลาดมีน้อยกว่าความต้องการ ประกอบกับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับต้นทุนได้ จึงจ้างแรงงานต่างด้าวซึ่งมีค่าตอบแทนที่ต่ำกว่า แต่ก็มีแรงงานต่างด้าวจำนวนหนึ่งที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ภาครัฐจึงต้องออกพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 (พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว) เพื่อบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

แต่การบังคับใช้กฎหมายอย่างกะทันหัน ทำให้เกิดความตื่นตระหนกจนแรงงานต่างด้าวจำนวนหนึ่งหนีกลับภูมิลำเนาไป ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ต้องพึ่งพิงแรงงานเหล่านี้แทบจะทันทีเพราะต้องเร่งหาแรงงานมาทดแทน และแรงงานที่เหลืออยู่อาจมีการเรียกร้องค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้นจากการทำงานที่หนักขึ้นเพื่อทดแทนแรงงานที่ขาดหายไป ซึ่งกระทบธุรกิจเป็นจำนวนมาก

กระทั่งรัฐบาลต้องผ่อนปรนบางมาตราไปถึง 1 ม.ค. 2561 เพื่อบรรเทาปัญหา ระหว่างนี้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวรับ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว เพื่อบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในธุรกิจของตัวเอง ดังนี้

1.ทำความเข้าใจกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากบทลงโทษของ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ค่อนข้างรุนแรงทั้งนายจ้างและแรงงานต่างด้าว เพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงกฎหมาย ผู้ประกอบการควรศึกษารายละเอียดเพื่อปฏิบัติให้ถูกต้อง รวมทั้งตระหนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบที่เกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก

สำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวและยังคงใช้แรงงานดังกล่าวอยู่ในธุรกิจ อาจจะต้องกระจายงานในส่วนที่ใช้แรงงานต่างด้าวไปให้ outsource หรือผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่ใช้แรงงานถูกกฎหมายทำแทน ซึ่งอาจจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ก็เป็นการลดความเสี่ยงจากบทลงโทษที่รุนแรงของกฎหมายที่จะบังคับใช้ในต้นปีหน้า

สำหรับผู้ประกอบการที่จำเป็นต้องจ้างแรงงานต่างด้าวเพิ่มเติมในอนาคต จะต้องทำการลงทะเบียนผ่านระบบ MOU เท่านั้น ซึ่งผู้ประกอบการสามารถหารายละเอียดถึงขั้นตอนต่าง ๆ ได้จาก http://wp.doe.go.th/wpindex.php/en/mou

2.เปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีในธุรกิจ เพราะการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการประกอบธุรกิจ จะสามารถลดจำนวนแรงงานลงได้ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถใช้เทคโนโลยีได้ในหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีและนวัตกรรมช่วยลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพในการผลิต การใช้ช่องทางออนไลน์หรือแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ แทนการใช้แรงงานคน

นอกจากนี้ ภาครัฐได้สนับสนุนการเงินผ่านโครงการในรูปแบบของสินเชื่อเพื่อให้ผู้ประกอบการลงทุนในเครื่องจักรต่าง ๆ โดยไม่เป็นภาระทางการเงินมากนัก จะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตได้ง่ายขึ้น และจะสามารถลดผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานลงได้

3.ทบทวนกระบวนการทางธุรกิจของตนเอง โดยผู้ประกอบการควรตรวจสอบทุกขั้นตอนการดำเนินธุรกิจว่ามีส่วนไหนที่จะสามารถลดต้นทุนได้ ตั้งแต่การหาวัตถุดิบ การผลิต จนถึงส่งมอบสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการอาจได้รับผลกระทบจากการหายไปของแรงงานต่างด้าวในช่วงแรก แต่หากผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้ นั่นก็หมายความว่า กระบวนการส่วนนั้นอาจจะไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงแรงงานเท่าที่เราเคยชิน และอาจทำให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนเหล่านั้นลงไปได้

การพึ่งพิงปัจจัยการผลิตอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป ทั้งแรงงาน เครื่องจักร และอื่น ๆ อาจทำให้ธุรกิจหยุดชะงักได้หากเกิดเหตุสุดวิสัย ดังเช่น พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ผู้ประกอบการจึงควรหันมามองโครงสร้างการดำเนินธุรกิจของตัวเอง เพื่อหาจุดอ่อนให้เจอ และวางแผนสำรองเอาไว้ในกรณีฉุกเฉิน

นอกจากนี้ ปัญหาแรงงานที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญนั้น ยังมีเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานไทยที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องปรับวิธีการทำธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จัดการต้นทุนได้อย่างเหมาะสม เพื่อเตรียมพร้อมรับมือทุกการเปลี่ยนแปลง