ยูโรฟื้นตัว หลังเผยแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (28/5) ที่ระดับ 31.86/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (27/5) ที่ระดับ 31.85/87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์ปรับตัวในทิศทางอ่อนค่าเล็กน้อย หลังหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ โดยล่าสุด 50 รัฐในสหรัฐ ได้กลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งแล้ว อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของดอลลาร์เป็นไปในทิศางอย่างจำกัด เนื่องจากนักลงทุนยังคงมีความกังวลต่อความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีนที่มีต่อสถานการณ์ในฮ่องกง

โดยล่าสุดคณะกรรมาธิการประจำสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ได้มีมติ 2,878 ต่อ 1 เสียง ในการสนับสนุนร่างเสนอกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ สำหรับฮ่องกงในวันนี้ (28/5) ระบุให้ฮ่องกงต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติโดยเร็วภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับย่อ ในส่วนของรายละเอียดของตัวกฎหมายนั่นยังคงไม่ชัดเจน และกระบวนการดังกล่าวถูกพิจารณาผ่านสภานิติบัญญัติของฮ่องกงโดยอาจใช้เวลาประมาณ 2 ถึง 3 เดือน จึงจะออกเป็นกฎหมายที่สมบูรณ์

อย่างไรก็ดีความตึงเครียดเริ่มมีมากขึ้นหลังนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ ได้รายงานต่อสภาคองเกรสในวันพุธ (27/5) ว่าฮ่องกงไม่ได้มีความเป็นอิสระในการปกครองตนเองจากจีนอีกต่อไป ซึ่งคำกล่าวของนายปอมเปโอกระทบต่อสถานพิเศษของฮ่องกง ที่ได้รับการเอื้อประโยชน์ทางการค้ากับสหรัฐ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาฮ่องกงได้รับการยกเว้นภาษีต่อสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐ ขณะที่รัฐบาลสหรัฐยังคงเก็บภาษีต่อสินค้าที่จีน ยิ่งไปกว่านั้นความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐ ได้มีมติเห็นชอบ 413 เสียงต่อ 1 เสียงในวันพุธที่ผ่านมา (27/5) ผ่านร่างกฎหมายเรียกร้องให้คว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีนในข้อหาควบคุมตัวและทรมานชาวมุสลิมอุยกูร์ในเขตตะวันตกของซินเจียง โดยร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกส่งต่อให้ประธานาธิบดีโดนัลด์  ทรัมป์ พิจารณาโดยทางประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะมีเวลาพิจารณา 180 วันเพื่อรวบรวมรายชื่อเจ้าหน้าที่จีนที่มีส่วนร่วม ซึ่งเขาไม่ได้กล่าวถึงร่างกฎหมายนี้ว่าจะตั้งใจจะอนุมัติหรือไม่ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.83-31.90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.85/87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (28/5) ที่ระดับ 1.1025/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (27/5) ที่ระดับ 1.1014/17 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินยูโรแข็งค่า หลังคณะกรรมาธิการยูโร (EC) เปิดเผยแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกในยูโรโซนซึ่งมีมูลค่า 750 พันล้านยูโร โดยเงินจำนวนดังกล่าวจะมาจากการกู้ยืมผ่านตลาดเงินและเบิกจ่ายให้แก่สมาชิกสหภาพยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่ง 2 ใน 3 ของเงินช่วยเหลือจำนวน 750 พันล้านยูโร จะนำไปใช้เพื่อให้การสนับสนุนเศรษฐกิจประเทศสมาชิกในรูปแบบของเงินช่วยเหลือ โดยถือเป็นการกู้ยืมร่วมกันและส่วนที่เหลืออีก 1 ใน 3 จะนำไปใช้ให้การช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกในลักษณะของเงินกู้ยืม

โดยประเมินกันว่า อิตาลีและสเปน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสรุนแรงที่สุด อาจได้รับการสนับสนุนทางการเงินในรูปแบบของเงินช่วยเหลือและเงินกู้ยืมรวมกันสูงถึงประมาณ 313 พันล้านยูโร นอกจากนี้การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ยังช่วยเสริมการถือครองยูโรเช่นกัน โดยล่าสุด อังกฤษเตรียมเปิดห้างสรรพสินค้าและธุรกิจบางส่วนในวันที่ 1 มิถุนายน และเยอรมนีเตรียมยกเลิกคำเตือนการเดินทางไปยัง 31 ประเทศในยุโรปในช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้ ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0992-1.1035 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0996/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (28/5) ที่ระดับ 107.79/81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (27/5) ที่ระดับ 107.68/70 เยน/ดอลลาร์ ค่าเงินเยนเริ่มปรับตัวอ่อนค่าลงหลังนักลงทุนหันขายสินทรัพย์ปลอดภัย จากความหวังที่ว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะเริ่มทยอยฟื้นตัวขึ้น หลังจากรัฐบาลในหลายประเทศเริ่มเดินหน้าผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทั้งนี้การอ่อนค่ายังอยู่ในกรอบจำกัดเนื่องจากความกังวลว่าสหรัฐอาจคว่ำบาตรจีน เนื่องจากจีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่เพื่อสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองฮ่องกง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.75-107.90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.77/79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของสหรัฐไตรมาส 1/63 (28/5), ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐเดือนเมษายน (28/5), ยอดขายบ้านที่รอปิดการขายของสหรัฐ เดือนเมษายน (28/5), จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหัฐ (28/5), ดัชนีราคาผู้บริโภคของเยอรมนีเดือนพฤษภาคม (28/5), ดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐานของสหรัฐเดือนเมษายน (29/5), ดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซน เดือนพฤษภาคม (29/5), ดัชนียอดค้าปลีกของญี่ปุ่น เดือนเมษายน (29/5), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เดือนเมษายน (29/5), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน เดือนพฤษภาคม (29/3), ดัชนียอดค้าปลีกของเยอรมนี เดือนเมษายน (29/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.30/+0.45 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.30/+0.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ