พิษ”โควิด”ธุรกิจแห่เลื่อนIPO “ศรีตรังโกลฟส์”สวนกระแสเข้าเทรดก.ค.นี้

“โควิด” พ่นพิษ ! ธุรกิจชะลอขายหุ้นไอพีโอ เกือบครึ่งปีมีแค่ 2 บริษัทเข้าระดมทุน จาก 13 บริษัทที่ก.ล.ต.ไฟเขียวไฟลิ่ง “บล.เมย์แบงก์ฯ” ประเมินปี”63 จำนวนหุ้นไอพีโอวูบหนัก เหตุภาคธุรกิจอ่วมผลกระทบไวรัสฉุดกำไรหด ตลท.งัด “ดิจิทัลไอพีโอ” อำนวยความสะดวกระดมทุนในสถานการณ์ “โควิด” ระบาด “ดีสโตน” เลื่อนแผนระดมทุนปีหน้า ฟาก “ศรีตรังโกลฟส์” สวนกระแสปักธงเข้าเทรด ก.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบันผ่านมาราว 5 เดือน พบว่า มีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นครั้งแรก (IPO) แค่ 2 บริษัท คือ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) และ บมจ.อิ๊กดราซิล กรุ๊ป (YGG) ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากปีก่อนที่ช่วงครึ่งปีแรกมีหุ้นไอพีโอระดมทุน 14 บริษัท

ส่วนบริษัทที่อยู่ระหว่างพิจารณาคำขอเข้าจดทะเบียน (ไฟลิ่ง) และได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้ว 13 บริษัท โดยเข้า SET 9 บริษัท และ 4 บริษัทเข้า mai

นายประเสริฐ ตันตยาวิทย์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อหุ้นไอพีโอปีนี้ โดยคาดว่าจำนวนหุ้นไอพีโอจะน้อยลงกว่าปีที่แล้วอย่างมีนัยสำคัญ จากสภาวะตลาดที่ยังมีความเสี่ยง โดย บล.เมย์แบงก์ฯมีหุ้นไอพีโอที่อยู่ระหว่างยื่นไฟลิ่ง 3 บริษัท แบ่งเป็น เข้า SET 2 บริษัท ได้แก่ บมจ.สามารถ เอวิเอชั่นโซลูชั่นส์ (SAV) และ บมจ.ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ (SCM) ซึ่ง ก.ล.ต.อนุมัติแล้วทั้ง 2 บริษัท และอีก 1 บริษัทจะเข้า mai คือ บมจ.สบาย เทคโนโลยี (SABUY) ซึ่ง ก.ล.ต.อนุมัติแล้วเช่นกัน

“แม้ในแง่บรรยากาศตลาดหุ้นตอนนี้เริ่มดีขึ้น แต่ผลประกอบการทุก ๆ ธุรกิจก็ได้รับผลกระทบ มีส่วนน้อยมากที่จะไม่ได้รับผลกระทบ ทำให้การระดมทุนต้องช้าออกไปจากแผน หรือถ้าเข้าระดมทุนก็ต้องหาจังหวะเวลาขายที่เหมาะสม”

นางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสไม่ได้กระทบกระบวนการนำ บจ. เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากกระบวนการต่าง ๆ ยังทำได้ปกติ แต่ขึ้นกับความพร้อมของแต่ละบริษัทเป็นหลัก

“ถ้าถามว่าหุ้นที่ยื่นคำขอไปจะขายไอพีโอในปีนี้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของบริษัท เช่น ผลกระทบของโควิด-19 ต่อผลประกอบการ ความต้องการในการใช้เงินลงทุน สภาวะตลาดหุ้น กระบวนการออกไปพบปะนักลงทุน ฯลฯ หากมีความพร้อมก็เดินตามแผนเดิม ซึ่งคงต้องพิจารณาเป็นรายบริษัท”

ทั้งนี้ บล.ไทยพาณิชย์มีหุ้นที่ยื่นขอจดทะเบียน 4 บริษัท แบ่งเป็น SET 3 บริษัท ได้แก่ บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง (SNNP) และทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ บี แอนด์ จี (BGREIT) ซึ่งได้รับอนุมัติจาก ก.ล.ต.แล้ว และ บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) อยู่ระหว่างไฟลิ่ง ส่วนอีก 1 บริษัท คือ บมจ.เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ (NRF) กำลังยื่นไฟลิ่งเข้า mai

แหล่งข่าวจากกลุ่มบริษัทดีสโตน ผู้จัดจำหน่ายยางรถยนต์ “Deestone” กล่าวว่า บริษัทมีแผนนำธุรกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในปี 2564 โดยเลื่อนมาจากปี 2562 ขณะที่ปี 2563 สภาวะตลาดก็ไม่เอื้ออำนวยเนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด

นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (STGT) ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางไนไตรล์ เปิดเผยว่า การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯของบริษัทยังเป็นไปตามแผนเดิม โดยคาดว่าจะเข้าซื้อขายวันแรกในช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้ ปัจจุบันได้รับการอนุมัติไฟลิ่งแล้ว ทั้งนี้ ในช่วงกลางเดือน มิ.ย.นี้ จะเริ่มเดินหน้าโรดโชว์ให้ข้อมูลแก่นักลงทุน

“จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า นักลงทุนให้ความสนใจกับหุ้นไอพีโอของบริษัทมาก เพราะธุรกิจของเรามีจุดแข็งจากกระแสที่คนหันมาสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น จากเดิมบริษัทผลิตถุงมือยางเพื่อจัดจำหน่ายให้กับธุรกิจการแพทย์และอาหารเป็นหลัก แต่ปัจจุบันพบว่ามียอดสั่งซื้อเข้ามาจากทุกอุตสาหกรรม” นางสาวจริญญากล่าว

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีหุ้นที่อยู่ระหว่างยื่นไฟลิ่ง 14 บริษัท และได้รับการอนุมัติจาก ก.ล.ต.แล้ว 13 บริษัท ซึ่งประกอบธุรกิจกระจายกันไปอยู่ในหลายอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่มีบริษัทติดต่อเพื่อเข้าเทรดในช่วงเร็ว ๆ นี้

“ปกติช่วง พ.ค.และ มิ.ย.ไม่ค่อยมีหุ้นเข้ามาเทรดในตลาดอยู่แล้ว จะไปหนักอีกทีช่วง ก.ค.และ ส.ค.ก่อนประกาศงบไตรมาส 2 และที่เหลือจะเข้าเทรดในช่วงปลายปีเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิดก็ยังไม่มีบริษัทไหนหยุดหรือยกเลิกแผนเข้าตลาดไป” นายแมนพงศ์กล่าว

นายแมนพงศ์กล่าวอีกว่า ภาวะตลาดปัจจุบันมีแนวโน้มดีขึ้นจากการจัดการเรื่องการแพร่ระบาดของโควิดได้ดีขึ้น และเริ่มทยอยเปิดเมือง ขณะที่รูปแบบการจัดพิธีซื้อขายหุ้นในตลาดวันแรก (1st day trading) จะปรับเปลี่ยนมาอยู่ในรูปแบบดิจิทัลไอพีโอเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน