SMEs ภูมิภาคจะฟื้นตัวอย่างไร ในปีนี้และปีหน้า (1)

Photo by Romeo GACAD / AFP
คอลัมน์ SMART SMEs
โดย TMB Analytics

ประเทศไทยเผชิญกับการแพร่กระจายไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ที่ทำให้ภาครัฐต้องประกาศมาตรการ lockdown ประเทศตลอดช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในเมืองไทยทุเลาลงถือเป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้ภาครัฐสามารถทยอยผ่อนคลายล็อกดาวน์ให้ภาคธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการได้

อีกครั้ง ทั้งนี้ แม้ว่าภาครัฐจะผ่อนคลาย lockdown แล้ว แต่ผู้บริโภคยังไม่ออกมาจับจ่ายใช้สอยหรือใช้ชีวิตในรูปแบบเดิม ซึ่งทำให้ธุรกิจ SMEs ในแต่ละพื้นที่อาจได้รับอานิสงส์จากการคลาย lockdown ที่แตกต่างกัน ในบางพื้นที่อาจมีการฟื้นตัวได้ทันที ในขณะที่อีกหลายพื้นที่มีการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ขึ้นอยู่กับลักษณะประเภทธุรกิจที่มีอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ทำการประเมินแนวโน้มลักษณะการฟื้นตัวของธุรกิจ SMEs ในแต่ละภูมิภาค ภายหลังการทยอยผ่อนคลายล็อกดาวน์ โดยพิจารณาจากความน่าจะเป็นในการทยอยปลดล็อกทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกของแต่ละธุรกิจ ความจำเป็นของลักษณะสินค้าต่อการดำรงชีวิตประจำวันของผู้บริโภค และปัจจัยเสี่ยงด้านโครงสร้างธุรกิจที่มีอยู่เดิมและมีแนวโน้มจะได้รับผล

กระทบอย่างหนักแม้ปลดล็อกดาวน์ไปแล้ว โดยประเมินการฟื้นตัวของธุรกิจ SMEs มีจำนวนเกือบ 3 ล้านรายในปัจจุบัน ตามประเภทธุรกิจ SMEs ในแต่ละภูมิภาคว่าจะสามารถฟื้นอย่างไร สามารถแบ่งตามลักษณะการฟื้นตัวของภาคธุรกิจแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มดังต่อไปนี้

กลุ่มที่ 1 ภูมิภาคที่ SMEs จะฟื้นได้ทันในปีนี้ (2563) คาดว่าจะมีผู้ประกอบการ SMEs ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวภายในปีนี้อยู่ที่ 1.73 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วน 62% ของ SMEs ทั้งประเทศ แยกออกเป็นกลุ่มฟื้นตัวในปีนี้แบบฟื้นเร็ว (ภายใน 3 เดือน) ส่วนมากจะอยู่ที่ “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ” โดยสัดส่วนรายได้ผู้ประกอบการ SMEs ที่ฟื้นตัวคิดเป็น 14.1% และ 13.2% ของรายได้ทั้งหมดของธุรกิจ SMEs ในภูมิภาคนั้น ๆ เนื่องจากประเภทธุรกิจของ SMEs ในสองภูมิภาคนี้มีความเกี่ยวโยงกับสินค้าที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ที่สำคัญคือมีการพึ่งพิงตลาดในประเทศเป็นหลัก อาทิ การซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจฟาร์มปศุสัตว์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างของภาครัฐ

กลุ่มฟื้นตัวในปีนี้แบบค่อยเป็นค่อยไป (ใช้เวลา 3-6 เดือน) ส่วนใหญ่จะอยู่ใน “ภาคกลางและภาคตะวันออก” โดยการฟื้นตัวคิดเป็น 65.3% และ 62.7% ของรายได้ทั้งหมดของธุรกิจ SMEs ในภูมิภาคนั้น ๆ ตามลำดับ เนื่องจากธุรกิจในพื้นที่จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปจากการคลายล็อกดาวน์ของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก เช่น สินค้าที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่ม การให้บริการทางธุรกิจ การรับเหมาก่อสร้าง ชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอาจใช้เวลาพอสมควรในการคลายล็อกดาวน์จะครอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศ