คนไทยแห่ปรับโครงสร้างหนี้ทะลัก 15 ล้านคน ซึมพิษโควิด

แบงก์ชาติ ธปท. ค่าเงินบาท กนง.

วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ BOT COVID-19 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รายงานความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

โดยล่าสุด ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ตัวเลขการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินผ่านมาตรการการปรับโครงสร้างหนี้ พบว่า มีจำนวนลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือจำนวน 15,026,776 ราย คิดเป็นยอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 6.59 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ หากดูรายละเอียดตามขนาดของลูกค้า พบว่า วันที่ 17 เม.ย. 63 มีจำนวนลูกค้าได้รับความช่วยเหลือ แบ่งเป็น สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่จำนวน 1,973 ราย ยอดภาระหนี้อยู่ที่ 0.43 ล้านล้านบาท สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จำนวน 43,557 ราย ภาระหนี้ 0.41 ล้านล้านบาท และสินเชื่อธุรกิจรายย่อยจำนวน 3,529,736 ราย ภาระหนี้ 1.17 ล้านล้านบาท

วันที่ 24 เม.ย. 63 แบ่งเป็น สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่จำนวน 2,306 ราย ภาระหนี้ 0.47 ล้านล้านบาท สินเชื่อเอสเอ็มอี 84,050 ราย ภาระหนี้ 0.55 ล้านล้านบาท และสินเชื่อรายย่อย 11,060,250 ราย ภาระหนี้ 2.56 ล้านล้านบาท และวันที่ 8 พ.ค.63 แบ่งเป็น สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ 4,084 ราย ภาระหนี้ 0.58 ล้านล้านบาท สินเชื่อเอสเอ็มอี 964,458 ราย ภาระหนี้ 1.48 ล้านล้านบาท และสินเชื่อรายย่อย 12,160,132 ราย ภาระหนี้ 3.45 ล้านล้านบาท

และวันที่ 15 พ.ค.63 แบ่งเป็น สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ 5,393 ราย ภาระหนี้ 0.63 ล้านล้านบาท สินเชื่อเอสเอ็มอี 1,073,267 ราย ภาระหนี้ 1.84 ล้านล้านบาท สินเชื่อรายย่อย 12,718,792 ราย ภาระหนี้ 3.64 ล้านล้านบาท และวันที่ 22 พ.ค.63 แบ่งเป็น สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ 4,688 ราย ภาระหนี้ 0.67 ล้านล้านบาท ธุรกิจเอสเอ็มอี 1,154,071 ราย ภาระหนี้ 2.14 ล้านล้านบาท และสินเชื่อรายย่อย 13,868,017 ราย ภาระหนี้ 3.78 ล้านล้านบาท

ขณะที่ความคืบหน้าโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของธปท.วงเงินรวม 5 แสนล้านบาท ณ วันที่ 25 พ.ค.63 พบว่า ยอดสินเชื่ออนุมัติแล้วจำนวน 58,208 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนผู้ได้รับซอฟต์โลนจำนวน 35,217 ราย โดยสินเชื่ออนุมัติต่อราย 1.7 ล้านบาทต่อราย

ทั้งนี้ สัดส่วนผู้ได้รับซอฟต์โลนแบ่งตามขนาดผู้รับ เอสเอ็มอีขนาดเล็กวงเงิน 0-20 ล้านบาท คิดเป็น 73.8% เอสเอ็มอีขนาดกลาง วงเงิน 20-100 ล้านบาท คิดเป็น 19.3% และเอสเอ็มอีขนาดใหญ่ วงเงิน 100-500 ล้านบาท คิดเป็น 6.9% ขณะที่สัดส่วนอนุมัติแบ่งตามขนาดผู้รับ แบ่งเป็น เอสเอ็มอีขนาดเล็กอยู่ที่ 23.8% เอสเอ็มอีขนาดกลาง 38.3% และเอสเอ็มอีขนาดใหญ่ 37.9%