โควิดทุบ “บัตรกดเงินสด” ดิ่ง KTC ยอดรูด เม.ย.ติดลบ 40%

ธนาคาร-น็อนแบงก์ส่งสัญญาณธุรกรรมกดเงินสดร่วงหนัก สารพัดปัจจัยรุมเร้า “ล็อกดาวน์-คนระวังใช้จ่าย-วงเงินเต็ม” แถมลูกหนี้ “ติดล็อก” พักหนี้ “เคทีซี” ยอดใช้จ่ายผ่านบัตร เม.ย.ติดลบ 40% “เฟิร์สช้อยส์” เจอปัญหารายได้หด-ความสามารถชำระหนี้ลดลง เปิดข้อมูล ธปท. Q1/63 ยอดกดเงินสด -2%

เคทีซีปรับแผน-ปรับเป้า

นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจบัตรเครดิต บริษัท บัตรกรุงไทย (KTC) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สัญญาณการกดเงินสดล่วงหน้า (cash advance) ผ่านบัตรเครดิตเคทีซี ในช่วงไตรมาส 1/2563 พบอัตราการเติบโตถึง 20%แต่ในเดือน เม.ย.ลดลงถึง -7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง -25% จากเดือนมีนาคม 2563 มองว่าการกดเงินสดที่ชะลอลง เป็นผลมาจากลูกหนี้มีความต้องการใช้เงินสดน้อยลง เนื่องจากมีการเร่งเบิกใช้วงเงินไปแล้ว ทำให้ช่วง 3 เดือนแรกขยายตัวค่อนข้างสูง ประกอบกับบางส่วนมีการใช้เต็มวงเงินไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถเบิกเพิ่มได้ ส่งผลให้ยอดเดือน เม.ย.หดตัว ขณะเดียวกัน บริษัทไม่ได้ส่งเสริมให้ลูกค้ากดเงินสดเกินความจำเป็น ซึ่งปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างติดตามยอดการกดเงินอย่างใกล้ชิด

แนวโน้มการกดเงินสดผ่านบัตรเครดิตปีนี้อาจจะประเมินค่อนข้างยาก ต้องรอดูสถานการณ์หลังผ่อนคลายล็อกดาวน์ เช่นเดียวกับยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต อาจจะต้องปรับเป้าการเติบโตลดลง เนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ขยายวงกว้างและรุนแรง จากเดิมตั้งเป้าโต 12-15% หรือราว 2.35-2.45 แสนล้านบาท โดยจากปี 2562 ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโตอยู่ที่ 10.6% ซึ่งเป็นยอดกดเงินสดราว 2.8 หมื่นล้านบาท และยอดจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการผ่านบัตร 2.10 แสนล้านบาท เดือน เม.ย.ยอดวูบ 40%

นางพิทยากล่าวว่า ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ยอดรวมการใช้จ่ายบัตรเติบโต 2.2% มูลค่าราว 5.05 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นยอดใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการ 4.3 หมื่นล้านบาท และยอดกดเงินสดอีก 15% หรือราว 7,500 ล้านบาท แต่เมื่อเข้าเดือน เม.ย.จะพบว่า ยอดรวมใช้บัตรลดลงถึง 40% สะท้อนจากกำลังซื้อที่ลดลงตามรายได้ และผลจากการปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจชั่วคราว ซึ่งอาจจะต้องดูสถานการณ์หลังคลายล็อกดาวน์อีกครั้ง

“ขณะที่สัญญาณการชำระหนี้ถือว่าอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ แต่ยอมรับว่าการติดตามทวงหนี้ทำได้ยากขึ้นในภาวะเช่นนี้ ซึ่งแผนกติดตามหนี้ค้างชำระมีการติดตามลูกค้าอย่างใกล้ชิด รวมถึงการดูแลความเสี่ยงของวงเงินลูกค้าอย่างใกล้ชิด” นางพิทยากล่าว

เฟิร์สช้อยส์ตั้งรับปีนี้ติดลบ 18%

ด้านนางสาวณญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต “กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์” กล่าวว่า เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ปีนี้ บริษัทคาดว่ายอดกดเงินสดผ่านบัตรของกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์จะเติบโตติดลบ -18% เหลือเม็ดเงินราว 3.8 หมื่นล้านบาท จากปี 2562 ยอดกดเงินสดอยู่ที่ 4.55 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ เริ่มเห็นสัญญาณแผ่วของธุรกรรมกดเงินสดตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มี.ค. และเดือน เม.ย.พบว่า ยอดค่อนข้างนิ่ง ทั้งนี้ มองว่าเป็นผลมาจากมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้คนหยุดใช้จ่าย จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้วงเงินฉุกเฉิน ขณะที่บางส่วนใช้วงเงินเต็มไปแล้วจึงไม่สามารถกดเพิ่ม รวมทั้งหลังล็อกดาวน์การจ้างงานหดตัว ผู้บริโภคมีรายได้ลดลง ความสามารถชำระหนี้ลดลง ทำให้ไม่กล้ากู้ หรือยอดวงเงินเต็มแล้ว ทำให้ทั้งปียอดน่าจะติดลบ

ลูกค้าติดล็อกโปรแกรม “พักหนี้”

นายนันทวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการบริหาร บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) กล่าวว่า คาดการณ์ยอดกดเงินสดล่วงหน้าผ่านบัตรเครดิตปีนี้จะมีอัตราการเติบโตลดลงจากปี 2562 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากลูกค้าส่วนใหญ่เข้าโครงการพักชำระหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้ จะไม่สามารถทำธุรกรรมได้ ประกอบกับทุกคนระมัดระวังตัว ลดการใช้จ่าย อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า เนื่องจากลูกหนี้ที่เข้าโครงการพักชำระหนี้จะครบกำหนดโครงการ ซึ่งอาจมีบางส่วนกลับมาทำธุรกรรมได้ปกติ รวมถึงสถานการณ์คลายล็อกดาวน์น่าจะดีขึ้น สาขาอิออนสามารถกลับมาเปิดปกติจะช่วยหนุนยอดการเติบโตได้เช่นกัน

“การกดเงินสดในช่วง 3-4 เดือนแรกชะลอตัว เพราะสาขาเพิ่งจะเริ่มเปิดเมื่อวันที่ 17 พ.ค.นี้ และคนเดินห้างน้อย ทำให้ธุรกรรมลดลง โดยปกติเดือน เม.ย.จะเป็นช่วงที่มียอดกดเงินสดค่อนข้างเยอะ เพราะทุกคนต้องใช้เงินกลับต่างจังหวัด แต่ปีนี้ไม่มีสงกรานต์ งดการเดินทาง แต่คาดว่าทั้งปียอดคงไม่ติดลบ แต่โตน้อยลงจากปีก่อน”

Q1 ยอดกดเงินสดหดตัว -2%

นางอนิสา ชูจันทร์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ในช่วงไตรมาสแรกปี 2563 ปริมาณการกดเงินสดผ่านบัตรเครดิตเอสซีบี เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายปี 2562 อัตราลดลงราว 10% โดยเดือน เม.ย. 2563 ภาพรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและยอดการกดเงินสดลดลงเมื่อเทียบกับยอดเฉลี่ยต่อเดือนของไตรมาสแรก 2563 เนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ความจำเป็นและช่วงเวลาในการใช้จ่ายเปลี่ยนไป เช่น การเลื่อนเวลาเปิดเทอม หรือการชะลอเรื่องการเดินทางท่องเที่ยว เป็นต้น

สำหรับยอดกดเงินสดโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 9,000-10,000 บาทต่อครั้ง ธนาคารคาดว่าภาพรวมยอดกดเงินสดผ่านบัตรเครดิตปีนี้จะเติบโตลดลง อันเนื่องมาจากผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดย ธปท.ได้รายงานการให้บริการบัตรเครดิตของปี 2562 พบว่า ยอดกดเงินสดล่วงหน้ารวมของทุกสถาบันการเงินอยู่ที่ประมาณ 2.1 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต

รายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ยอดเบิกเงินสดล่วงหน้าช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 2563 อยู่ที่ 34,818 ล้านบาท หดตัว -2.0% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (35,540 ล้านบาท) ขณะที่ยอดเบิกเงินสดล่วงหน้าทั้งปี 2562 อยู่ที่ 137,033 ล้านบาท