ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ หลังประท้วงทั่วสหรัฐ

REUTERS/Jonathan Drake

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ หลังการประท้วงทั่วสหรัฐ ต่อกรณีฆาตกรรมชาวผิวส รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/6) ที่ระดับ 31.76/78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (29/4) ที่ระดับ 31.81/83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังหลายเมืองใหญ่ของสหรัฐได้ประกาศเคอร์ฟิวในวันเสาร์ (30/4) หลังจากการประท้วงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้นายจอร์จ ฟลอยด์ ชาวผิวสีที่ถูกตำรวจล็อกคอจนขาดอากาศหายใจและเสียชีวิต ได้ทวีความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นเหตุจลาจล ทั้งการทำลายทรัพย์สินสาธารณะ การเผารถยนต์ และการทุบกระจกร้านค้า ตลอดจนการปะทะกับตำรวจ โดยเมืองมินนีแอ โพลิส ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการประท้วง ตกอยู่ในสถานการณ์ความไม่สงบมาเป็นวันที่ห้าติดต่อกัน โดยตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาและปาระเบิดมือเข้าใส่กลุ่มผู้ประท้วงผู้โกรธแค้นจากกรณีที่นายจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสีวัย 46 ปีเสียชีวิตในระหว่างการเข้าจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจในร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งในเมืองมินนีแอ โพลิส รัฐมินนิโซตา เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

ขณะที่ในลอสแอนเจลิส ชิดคาโก แอตแลนต้า และอีกกว่า 20 เมืองนั้น ทางการท้องถิ่นได้สั่งห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานในยามวิกาล โดยในหลายรัฐยังได้มีการเรียกร้องให้ทหารจากหน่วย National Guard เข้ามาช่วยควบคุมเหตุการณ์ความไม่สงบซึ่งนับว่ารุนแรงที่สุดในสหรัฐในรอบหลายปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยตัวเลขการใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐดิ่งลง 13.6% ในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นการทรุดตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บรวบรวมข้อมูล และย่ำแย่กว่าสถิติเดิมที่ 6.9% ที่ทำไว้ในเดือน มี.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 12.6% โดยการใช้จ่ายของผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้มีการปิดร้านค้าต่าง ๆ ส่งผลให้มีผู้ตกงานจำนวนมาก และฉุดอุปสงค์ในการใช้จ่ายสินค้า ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.67-31.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.67/31.68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (1/6) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.13/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (29/5) ที่ระดับ 1.118/19 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ภายหลังการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยตัวเลขยอดค้าปลีกของเยอรมนีในเดือนเมษายน ปรับตัวลดลง 5.3% ต่อเดือน น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับตัวลงถึง 12% นอกจากนี้ หากเทียบเป็นรายปี ยอดค้าปลีกปรับตัวลง 6.5% เทียบกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงถึง 14.3% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1107-1.153 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.113/15 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (1/6) เปิดตลาดที่ระดับ 107.66/67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (29/5) ที่ระดับ 107.23/24 เยน/ดอลลาร์ ภายหลังกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เปิดเผยในรายงานเบื้องต้นวันนี้ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย.ดิ่งลงหนักสุดในรอบ 7 ปี เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลให้โรงงานต่าง ๆ ในญี่ปุ่นต้องระงับการผลิต และยังทำให้ความต้องการสินค้าญี่ปุ่นทั้งภายในและต่างประเทศทรุดตัวลงด้วย โดยรายงานของกระทรวงระบุว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย.ร่วงลง 9.7% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งเป็นการร่วงลงหนักสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2556 ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.37-107.85 เยน/ดอลลาร์หสหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ107.61/63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาหนี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือน พ.ค. (1/6), ดัชนีภาคการผลิตเดือน พ.ค. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานสหรัฐ (ISM) (1/6), ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนเดือน พ.ค. จาก ADP (3/6), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือน พ.ค. (3/6), ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน เม.ย. (3/6), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (4/6),ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือน พ.ค. (5/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ