บอร์ดติดตามปัญหามึนมูลค่าหนี้”บินไทย”สั่งรวมข้อมูล”สัญญา-เงื่อนไขกลับมาบิน”

Photo by MIKE CLARKE/AFP

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้นัดประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา

โดยคณะผู้บริหารของการบินไทยได้รายงานถึงสถานะของบริษัทหลังศาลล้มละลายรับคำร้องขอยื่นฟื้นฟูกิจการ โดยสถานะมูลหนี้ของการบินไทยปัจจุบันไม่ได้สูงถึง 350,000 ล้านบาทตามที่นำเสนอ แต่อยู่ระหว่าง 200,000 – 300,000 ล้านบาทเท่านั้น

ส่วนจำนวนเจ้าหนี้ของการบินไทยอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านราย ไม่ได้มากมายตามที่มีรายงานผ่านสื่อ
ขณะที่การติดต่อกับเจ้าหนี้ เบื้องต้นทางการบินไทยรายงานว่า ได้เริ่มติดต่อขอเจรจากับเจ้าหนี้บางส่วนแล้ว และแนวโน้มก็เป็นไปในทางที่ดีคือ อาจจะไม่ต้องพึ่งกระบวนการยื่นขอฟื้นฟูตามกระบวนการศาลล้มละลายของสหรัฐอเมริกา (Chaper 11)

ซึ่งทางคณะกรรมการก็ให้แนวคิดกับการบินไทยไปว่า ต้องพยายามเจรจากับเจ้าหนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะในไทยและต่างประเทศให้ยอมเข้าสู่กระบวนการศาลล้มละลายภายในประเทศ เพื่อลดขั้นตอนและเวลาในการทำแผนฟื้นฟู

ส่วนกรณีที่สหกรณ์เจ้าหนี้การบินไทย 84 แห่ง และสถาบันการเงิน ที่ลงทุนหุ้นกู้ของการบินไทย รวม 60,000 ล้านบาท เตรียมยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ต่อศาลล้มละลายในวันที่ 14 ส.ค.นี้ คงไปห้ามอะไรเขาไม่ได้ แต่ให้การบินไทยพยายามพูดคุย ซึ่งหากไม่เป็นผลคงต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลล้มละลายต่อไป

นอกจากนี้ การบินไทยยังรายงานให้คณะกรรมการทราบอีกว่า มีความประสงค์จะขอกลับมาทำการบินอีกครั้งในวันที่ 1 ก.ค.นี้ จึงขอให้คณะกรรมการช่วยหารือกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ในฐานะที่เป็นเรกูเรเตอร์ด้านการบินถึงเงื่อนไขและข้อกำหนดต่างๆ

“ทางคณะกรรมการจึงให้การบินไทยกลับไปรวบรวมปัญหาที่เกี่ยวกับประเด็นนี้กลับมาอีกครั้ง เพื่อที่คณะกรรมการจะได้สรุปประเด็นและนำไปหารือกับ กพท. ต่อไป”

นายประภาศกล่าวอีกว่า คณะกรรมการฯยังให้การบินไทยไปดำเนินการสำรวจและรวบรวมสัญญาเช่าทั้งหมดที่ทำร่วมกับหน่วยงานของรัฐ อาทิ บมจ.ท่าอากาศยานไทย เป็นต้น เพื่อตรวจสอบว่า เมื่อพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจและกลายเป็นบริษัทเอกชนแล้ว สัญญาต่างๆที่เคยทำไว้มีความเสี่ยงจะเข้ารูปแบบ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ 2562 หรือไม่ เพื่อที่คณะกรรมการชุดนี้จะได้ช่วยดำเนินการตรวจสอบและให้การบินไทยดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายที่ถูกต้อง