ดอลลาร์แข็งค่า หลังการจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐปรับตัวสูงเกินคาด

ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่า หลังตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐปรับตัวสูงเกินกว่าคาด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/6) ที่ระดับ 31.60/62 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (2/6) ที่ระดับ 31.58/60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นหลังจากเมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา (3/6) ได้มีการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐ ประจำเดือนพฤษภาคมได้ปรับตัวลดลง 2.76 ล้านตำแหน่ง ปรับตัวลดลงน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง 8.75 ล้านตำแหน่ง และเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนที่มีการปรับตัวลดลงถึง 19.6 ล้านตำแหน่ง ซึ่งเป็นภาวะการจ้างงานที่อ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลในปี 2545

การปรับตัวขึ้นของตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐดังกล่าวถือเป็นการส่งสัญญาณว่าตลาดแรงงานสหรัฐ ได้ผ่านภาวะที่ตกต่ำที่สุดจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว พร้อมทั้งสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ได้มีการเปิดเผย ดัชนีภาคบริการของสหรัฐ ประจำเดือนพฤษภาคม ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 45.4 หลังจากลดลงแตะระดับ 41.8 ในเดือนเมษายน และเป็นการปรับตัวขึ้นมากกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 44.0 นอกจากนี้ ไอเอชเอส มาร์กิต ได้มีการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ประจำเดือนพฤษภาคมได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 37.5 หลังจากทรุดตัวลงแตะระดับ 26.7 ในเดือนเมษายน และเป็นการปรับตัวสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 37.2

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการเปิดเผยวันนี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อของไทยประจำเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 99.76 ลดลง -3.44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวในรอบ 10 ปี 11 เดือน โดยพบว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ -1.04% ขณะที่ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ประจำเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 102.51 เพิ่มขึ้น  0.01% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และพบว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI)อยู่ที่ระดับ 0.40%

โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อของไทย นอกเหนือจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แล้ว อัตราเงินเฟ้อยังได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ และการส่งออกที่ยังรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งอุปทานส่วนเกินของสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นผลจากการลดลงของอุปสงค์และสงครามการค้า ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรแม้ยังมีปัจจัยบวกจากภัยแล้งและอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มดีขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ต่าง ๆ แต่การลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังเป็นปัจจัยที่น่าจะส่งผลต่ออุปสงค์ในภาคการผลิตและบริการอย่างมีนัยสำคัญตลอดทั้งปี ดังนั้น เงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนมีแนวโน้มที่จะยังหดตัว แต่ในอัตราที่ลดลง

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยทั้งปี 2563 จะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง -1.0 ถึง -0.2% สำหรับค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 31.56-31.68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 52.60/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (4/6) ที่ระดับ 1.1219/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (2/6) ที่ระดับ 1.1179/83 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นหลังจากที่คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้มีการเสนอจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูวงเงินกว่า 7.5 แสนล้านยูโรเพื่อกระตุันเศรษฐกิจยุโรป โดยแผนการดังกล่าวประกอบไปด้วยการจัดตั้งเงินกู้มูลค่า 2.5 แสนล้านยูโร  รวมทั้งการให้เงินทุนสนับสนุนมูลค่า 5 แสนล้านยูโร

พร้อมทั้งเมื่อคืนที่ผ่านมา สถาบัน ไอเอชเอส มาร์กิต ได้มีการเปิดเผย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของยูโรโซน ประจำเดือนพฤษภาคม ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 30.5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน หลังจากทรุดตัวลงแตะระดับ 12.0 ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้นักลงทุนยังคงติดตามผลการประชุมนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่จะเสร็จสิ้นช่วงเวลาปรมาณ 19.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1195-.1236 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1197/1.1201

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/6) ที่ระดับ 108.90/92 ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (2/6) ที่ระดับ 107.73/74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนได้ปรับตัวอ่อนค่าลง หลังจากที่นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น จากการที่ประเทศต่าง ๆ เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว รวมถึงการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางของชาติต่าง ๆ จะยังคงผ่อนคลายนโยบายเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หนุนการเทขายสินทรัพย์ปลอดภัยในระยะนี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.81-109.17 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.93/94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (4/6), ดัชนีความเชื่อมั่นผุ้บริโภคจากสถาบัน GfK สหราชอาณาจักร, ดัชนีการใช้จ่ายภาคครัวเรือนของประเทศญี่ปุ่น, ยอดคำสั่งซื้อสินค้าจากโรงงานของเยอรมนี และตัวเลขด้านแรงงานของสหรัฐ (5/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ท่ +0.35/+0.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.3/-0.55 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ