“บรรยง” แนะกู้เพิ่ม 1 ล้านล้านแก้โควิด ผ่อนจังหวะล็อก-คลายล็อก

“บรรยง พงษ์พานิช” ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน ในฐานะกูรูด้านการเงิน ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงปริมาณ “ความพอดี” ในการต่อสู้กับโควิด-19 ของรัฐบาล พร้อมอ้างอิงเข็มทิศ “5T” ของสันติธาร เสถียรไทย เป็นแนวทางการช่วยเหลือประชาชน ให้รัฐบาลรู้ว่าจังหวะไหนควรใส่เต็มที่และจังหวะไหนควรถอย

“บรรยง” เริ่มต้นด้วยการให้คะแนนรัฐบาลในการรับมือกับโควิด-19

“ผมชื่นชมรัฐบาลเรื่องของการต่อสู้โควิด มันพิสูจน์ได้ว่าเราเป็นประเทศที่ประสบผลสำเร็จมากในเรื่องการต่อสู้กับโควิด จะโดยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ต้องให้เครดิตรัฐบาล”

ขณะเดียวกันก็ชื่นชมวินัยคนไทย โดยยกตัวอย่าง รถมอเตอร์ไซค์ซ้อนสี่ ที่ไม่ใส่หมวกกันน็อกกันสักคน แต่ใส่หน้ากากกันทุกคน

อย่างไรก็ตาม “บรรยง” ตั้งข้อสังเกตว่า “ต้นทุน” ในการรับมือกับโควิดของรัฐบาลนั้น “สูงเกินไป” หรือไม่

“เราบอกว่าเราจะใช้กลยุทธ์ Flattening the curve คือทำยังไงให้จำนวนผู้ป่วยไม่สูงเกินกว่า Facility ซึ่งเพียงพอสำหรับรองรับผู้ป่วย 12,000 ราย ขณะที่วันนี้มีผู้ป่วยไม่ถึงร้อยราย เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ flatten แล้ว มันกระทืบ the curve จนแบนติดดินไปแล้ว ถามว่าดีไหม ดีครับ ผมดีใจ เพราะผมเป็นคนสูงอายุ ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ชีวิตคนเป็นเรื่องสำคัญอยู่แล้ว แต่ก็ต้องคิดให้ดี มันไม่มีอะไรไปข้างใดข้างหนึ่ง

ความเห็นของผมคือมันต้องคลายมากกว่านี้ อันนี้จะเป็นการพิสูจน์คำว่า Agility (ความว่องไวหรือความคล่องตัว) รวมถึงคำว่า Resilience (ความยืดหยุ่น) คือถ้าคลายแล้ว มันกลับมาอีก คุณก็ตึงใหม่ ต้องตึง ๆ คลาย ๆ ใครจะว่ายังไง เราก็หนีไม่พ้น”

และสิ่งที่ต้องทำควบคู่กับการคลายมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุนทางเศรษฐกิจ คือ “มาตรการช่วยเหลือ” เช่น เงิน 1.6 แสนล้านบาท ผ่านกองทุนประกันสังคม ซึ่ง “บรรยง” มองว่า หากควบคุมความโปร่งใสได้ เงินก้อนนี้ไม่ถือว่ามากเกินไป

“ผมอยากจะให้เตรียมเพิ่มอีก 1 ล้านล้าน ด้วยซ้ำ” บรรยงกล่าว

ส่วนแนวการช่วยเหลือประชาชนของรัฐบาล “บรรยง” แนะว่าความทำตามกรอบ 5T

1.Titanic (ใหญ่โต, มหึมา) การให้ความช่วยเหลือต้องมากพอ ไม่ใช่ทำแค่น้ำจิ้ม ที่ใส่ไปนิดเดียวก็ละลาย

2.Timing (การตัดสินเลือกเวลา) ต้องทันเวลา ไม่ใช่ให้ประชาชนรอ

3.Target (ตั้งเป้าหมาย) การช่วยเหลือต้องตรงจุด โดยเฉพาะการแจกเงิน ซึ่งต้องถูกที่และทั่วถึง

4.Transparent (โปร่งใส) ลดการ “รั่วไหล” โดยใช้มาตรการที่รัฐเกี่ยวข้องน้อยที่สุด มีการดำเนินการน้อยที่สุด

5.Temporary (ชั่วคราว) ไม่แช่นาน ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด

“บรรยง” มองว่า ยามนี้ต้องใช้ทฤษฎี Keynesian Economics หรือ Keynesian Theory (ทฤษฏีทางเศรษฐศาสตร์ ที่รัฐบาลมักจะเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดนโยบายด้านการใช้จ่ายที่สำคัญ ๆ เพื่อเพิ่มการเติบโตของ GDP เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ) เนื่องจากเวลานี้มีรัฐเท่านั้น ที่สามารถรวบรวมทรัพยากรได้ในขนาดใหญ่และมากพอ

“เพราะฉะนั้นรัฐต้องขยาย ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ผมจะต่อต้านการขยายของรัฐ แต่เรื่องนี้กลับสนับสนุนว่าต้องเป็นรัฐเท่านั้น แต่ต้องอย่าลืมท่องว่า เสร็จแล้วมึงถอยไปนะ ทำโปรเจ็กต์ที่ทำแล้วจบ ไม่ใช่ทำแล้วแช่ ไม่ใช่ไปยึดข้าวมาจำนำขายเอง แม้แต่โปรเจ็กต์ก่อสร้างก็ไม่ห้าม แต่ต้องเป็นโปรเจ็กต์เบส ไม่ใช่ไปตั้งรัฐวิสาหกิจใหม่ อันนี้หายนะ”

ท้ายที่สุด “บรรยง” เตือนรัฐบาลให้ดูบทเรียนของ “วินสตัน เชอร์ชิล” อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่ชาวอังกฤษพากันปรบมือยกย่องให้เป็น “วีรบุรุษ” ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

แต่หลังผ่านสงครามไปเพียง 3 เดือน กลับแพ้เลือกตั้งย่อยยับ