ไทยพาณิชย์หั่นจีดีพี Q2 หดแรง-12% ครึ่งปีหลัง “ครัวเรือน-ธุรกิจ” ส่อเบี้ยวหนี้พุ่ง

Mladen ANTONOV/AFP

“โควิด” พ่นพิษเศรษฐกิจไทย ครึ่งปีหลังเสี่ยง 3 ประเด็น “อีไอซี” จับสัญญาณ “ครัวเรือน-ธุรกิจ” ผิดนัดชำระหนี้เพิ่ม ขณะที่ “ประเทศ-ธุรกิจ” เสี่ยงถูกหั่นเครดิตจากภาระหนี้ต่อรายได้ที่สัดส่วนสูงขึ้น คาด ธปท.เร่งออกมาตรการสกัดความเปราะบาง พร้อมหั่นจีดีพีปีนี้หดตัวแรง -7.3% ไตรมาส 2 หนักสุด -12% เหตุนักท่องเที่ยวต่างชาติหายเหลือ 9.8 ล้านคน ส่งออก-บริโภคหดตัว เศรษฐกิจโลกโตต่ำสุดในรอบ 90 ปี

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในระยะข้างหน้าจากผลกระทบของโควิด-19 จะมีอยู่ 3 ประเด็น คือ 1.โอกาสการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น จากความเปราะบางของกันชนทางการเงิน โดยที่ผ่านมาจะเห็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร่งช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุนทางการเงิน และสนับสนุนปรับโครงสร้างหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนผ่านสถาบันการเงิน รวมถึงมาตรการอื่น ๆ อีกหลายมาตรการ

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ

2.ความเสี่ยงด้านเครดิตที่อาจเพิ่มขึ้นทั้งในระดับประเทศและธุรกิจที่มีภาระหนี้ต่อรายได้สูงขึ้นมาก โดยในหลายประเทศ รวมถึงไทย มีหนี้สาธารณะที่ปรับเพิ่มขึ้นมากในช่วงนี้ ขณะเดียวกันพบว่ามี 199 บริษัททั่วโลกที่ถูกลดอันดับความเชื่อถือ ซึ่งอาจกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนที่โยงสู่ตลาดการเงินที่ผันผวนได้ และ

3.สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งกระทบต่อปริมาณการค้าโลก เนื่องจากไทยพึ่งพิงการส่งออกมากกว่า 50%

“กลุ่มผิดนัดชำระหนี้ ตอนนี้มี 2 กลุ่ม คือ เอสเอ็มอีและครัวเรือน และสัญญาณผิดนัดยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลัง แม้ว่า ธปท.และแบงก์ต่าง ๆ ได้ช่วยผ่านมาตรการพักชำระหนี้ โดยเราเชื่อว่าหากยังไม่เพียงพออาจจะเห็นการใช้มาตรการเพิ่มเติมจาก ธปท.ได้ โดยที่ยังคงดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.5% ทั้งปี” ดร.ยรรยงกล่าว

ดร.ยรรยงกล่าวว่า จากแนวโน้มความไม่แน่นอนที่มีอยู่ อีไอซีจึงได้ปรับประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2563 เป็นหดตัว -7.3% จากเดิมคาด -5.6% โดยในไตรมาส 2 จะหดตัวหนักสุด -12% ถือเป็นจุดต่ำสุด จากนั้นจะทยอยฟื้นตัว แต่จีดีพีจะยังคงติดลบในครึ่งหลังของปี ทั้งนี้ สาเหตุมาจากภาคการท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป 100% จากการปิดน่านฟ้า ทั้งปีคาดว่าจะเหลือจำนวนนักท่องเที่ยวเพียง 9.8 ล้านคน จากประมาณการเดิมอยู่ที่ 13 ล้านคน ซึ่งเป็นการหดตัวถึง -75.3% ขณะที่การลงทุนและการบริโภคมีแนวโน้มหดตัวตามการส่งออกที่คาดว่าทั้งปีจะ -10.4% ส่วนตลาดแรงงานยังคงอ่อนแอ โดยตัวเลขว่างงานจากประกันสังคมเพิ่มจาก 1.2% เป็น 1.8% สะท้อนไปยังรายได้ภาคครัวเรือนเฉลี่ยลดลงในรอบ 10 ปี ส่งผลให้กำลังซื้อทรงตัว

ส่วนเศรษฐกิจโลก คาดว่าจะหดตัว -4% จากเดิมคาดไว้ -3% ต่ำสุดในรอบ 90 ปี เนื่องจากความเชื่อมั่นยังต่ำ อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง ส่วนการบริโภคและการลงทุนยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็ว

“การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเป็นไปอย่างช้า ๆ แบบลักษณะ U shape โดยจีดีพีจะกลับมาเป็นบวกในปี 2564 แต่การเติบโตจะวิ่งอยู่ในระดับ 3% ส่วนการกลับมาเติบโตในระดับก่อนเกิดโควิด-19 อาจจะใช้เวลา 2 ปี หรือภายในปี 2565” ดร.ยรรยงกล่าว