ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า หลังนักลงทุนมองเศรษฐกิจในเชิงบวกมากขึ้น

ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/6) ที่ระดับ 31.38/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (8/6) ที่ระดับ 31.43/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และแข็งค่าต่อเนื่องในระหว่างวัน ค่าเงินดอลลาร์ลดแรงบวกลงหลังจากพุ่งขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ ก่อนตอบรับรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น 2.5 ล้านตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ที่คาดว่าการจ้างงานจะลดลง 8.33 ล้านตำแหน่ง อีกทั้งการทยอยคลายมาตรการล็อกดาวน์ของหลาย ๆ ประเทศทำให้นักลงทุนมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อสภาพเศรษฐกิจ ส่งผลให้ความต้องการถือครองเงินสกุลดอลลาร์ลดลง

อย่างไรก็ตามในวันนี้ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐ (NBER) ได้ออกมาระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐได้เข้าสู่ภาวะถดถอยในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ดี NBER มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะมีการขยายตัวตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป ผลกระทบของไวรัสดังกล่าวทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในรอบนี้ มีความรุนแรงเป็นประวัติการณ์ และยังทำสถิติช่วงเวลาสั้นที่สุดเป็นประวัติการณ์อีกด้วย

ในส่วนของประเทศไทย วานนี้ (8/9) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการประชุมเรื่องแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปว่า ขณะนี้รัฐบาลพยายามอุดช่องโหว่ในการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีต่อภาคธุรกิจและประชาชนที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ เนื่องจากคาดว่าผลกระทบจะมีมากขึ้นในระยะ 3-4 เดือนข้างหน้า โดยขณะนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังออกมาตรการในการกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวในประเทศ โดยคาดว่าจะเห็นมาตรการใหม่ในไตรมาส 3 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.33-31.42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.37/38 ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/6) ที่ระดับ 1.1295/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาด เมื่อวันจันทร์ (8/6) ที่ระดับ 1.1301/04 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร สหรัฐโดยวานนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีรายงานการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายน ปรับตัวลดลง 17.9% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งถือเป็นการหดตัวรายเดือนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และดิ่งลง 25.3% หากเทียบเป็นรายปี โดยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้บริษัทต่าง ๆ ในเยอรมนีต้องปรับลดการผลิต

นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติของอิตาลี (ISTAT) คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอิตาลี จะหดตัวลง 8.3% ในปีนี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในรายงานระบุว่า ISTAT ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2563 ลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนธันวาคม ว่าจะขยายตัว 0.6% (ซึ่งเป็นการคาดการณ์ก่อนที่โควิด-19 จะเริ่มระบาดในอิตาลี) และในวันนี้ (9/6) สำนักงานสถิติของรัฐบาลกลางเยอรมนีเปิดเผยยอดส่งออกในเดือนเมษายนหดตัว 24% ขณะที่ยอดนำเข้าของเยอรมนีในเดือนเมษายนลดลง 16.5% และยอดเกินดุลการค้า หดตัวลงเหลือ 3.2 พันล้านยูโร

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1239-1.1314 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1259/63 ดอลลา์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/6) ที่ระดับ 108.01/04 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (8/6) ที่ระดับ 109.46/51 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ วานนี้ สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้มีการประกาศปรับเพิ่มประมาณการตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ปี 2563 โดยระบุว่า GDP ไตรมาส 1 ปี 2563 หดตัวลง 2.2% จากไตรมาส 4 ปี 2562 ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยก่อนหน้านี้ นายยาซูโตชิ นิชิมูระ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจญี่ปุ่นเคยเปิดเผยว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ซึ่งมีเป้าหมายที่จะบรรเทาผลกระทบจาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น จะช่วยหนุนตัวเลข GDP ของญี่ปุ่นขยายตัวราว 2% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.77-108.54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.83/86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การประชุมธนาคารกลางสหรัฐระหว่างวันที่ 9-10 มิถุนายน ตัวเลข CPI และ PPI ของสหรัฐ และตัวเลข GDP ของประเทศอังกฤษ

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.2/0.35 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.2/-2.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ