“อุตตม” พร้อมอุ้ม SME ขนส่ง 3 แสนราย หนุนจ้างงาน 6 ล้านคน

อุตตมพร้อมออกมาตรการช่วยเหลือ SME ธุรกิจขนส่ง 3 แสนราย หนุนจ้างงาน 6 ล้านคน แนะใช้ซอฟต์โลนแบงก์ชาติ-ออมสิน ทั้งเตรียมออกสินเชื่อปรับตัว สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัล ฟื้นฟูกิจการหลังโควิดคลี่คลาย ด้านสหพันธ์ฯ ชี้หากรัฐไม่หนุนกระทบผู้ประกอบการ 60-70% ตกงานกว่า 4 ล้านคน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการรับหนังสือร้องเรียนจากสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ว่า สหพันธ์ฯ ได้ขอให้รัฐบาลพิจารณาแนวทางสนับสนุนการขนส่งทางบก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายเล็กราว 3 แสนราย ซึ่งมีผลต่อการจ้างงานกว่า 5-6 ล้านคน อย่างไรก็ดี ได้นำเรียนไปว่ารัฐบาลมีนโยบายดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ครอบคลุมทุกกลุ่ม ฉะนั้น จะเร่งพิจารณาผู้ประกอบการในกลุ่มดังกล่าวให้เร็วที่สุด

สำหรับรูปแบบการช่วยเหลือจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยในระยะแรก จะประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 5 แสนล้านบาทได้ ซึ่งขณะนี้ทราบว่าใช้ไปแล้ว 7 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะมีวงเงินเหลือให้ผู้ประกอบการขนส่งสามารถใช้ได้ นอกจากนี้ ยังมีวงเงินในส่วนของซอฟต์โลน ธนาคารออมสิน ที่ยังพอเหลืออยู่ ก็สามารถไปใช้ในส่วนนั้นได้

พร้อมกันนี้ ยังได้แจ้งไปว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการเร่งพิจารณามาตรการช่วยเสริมสภาพคล่องของเอสเอ็มอี ที่เข้าไม่ถึงธนาคารพาณิชย์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาออกกลไก โดยได้มีการเชิญสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มาหารือในเรื่องดังกล่าวด้วย คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะได้เห็นโครงสร้างของมาตรการดังกล่าว

ขณะที่ระยะที่ 2 จะเป็นการฟื้นฟูกิจการ หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เนื่องจากคาดว่ารูปแบบธุรกิจจะมีการเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งโลจิสติกส์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ฉะนั้น ผู้ประกอบการจะต้องมีการปรับตัว เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยกระทรวงการคลังจะพิจารณาช่วยเหลือด้วยมาตรการเงินผ่านการออก “สินเชื่อปรับตัว” และจะต้องมีมาตรการที่ไม่เฉพาะตัวเงินด้วย โดยจะพิจารณาช่วยเหลือในรูปแบบแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อเข้ามาช่วยดูแลระบบขนส่งของธุรกิจ

ด้านนายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานที่ปรึกษาสหพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นอกจากมาตรการที่กระทรวงการคลังจะพิจารณาดูแลข้างต้น สหพันธ์ยังได้ขอให้ช่วยปรับลดภาษีหัก ณ ที่จ่ายลง จาก 1% เหลือ 0.5% เพื่อคงการจ้างงานพนักงานขับรถไว้

อย่างไรก็ดี หากไม่มีการพิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบกว่า 60-70% โดยช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ปริมาณการจ้างงานลดลง 40-50% ฉะนั้น จะส่งผลให้พนักงานขับรถบรรทุกตกงานกว่า 4 ล้านคน และกิจการจะหยุดชะงักด้วย

ทั้งนี้ คาดว่าเม็ดเงินที่รัฐบาลพิจารณาช่วยเหลือจะต้องเป็นหลักหมื่นล้านบาท จึงจะสามารถเข้ามาพยุงระบบการดำเนินธุรกิจและการจ้างงานของระบบขนส่งรถบรรทุกได้