ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าตามภูมิภาค นักลงทุนรอผลประชุม FED

เงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ-เฟด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 10 มิถุนายน 2563  ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/6) ที่ระดับ 31.26/28 บาท ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (9/6) ที่ระดับ 31.34/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ได้ปรับตัวอ่อนค่าลงหลังจากเมื่อคืนที่ผ่านมา สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐ ได้มีการเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงาน (JOLTS) ประจำเดือนเมษายน พบว่าตัวเลขดังกล่าวลดลงมากกว่า 965,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 5.0 ล้านตำแหน่ง ซึ่งถือว่าเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 และสำหรับอัตราการเปิดรับสมัครงานได้ลดลงสู่ระดับ 3.7% ในเดือนเมษายน จากระดับ 3.8% ในเดือนมีนาคม โดยการร่วงลงของตัวเลขการเปิดรับสมัครงานดังกล่าว ได้บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐ อาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีที่จะสามารถฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 ได้

พร้อมทั้งเมื่อคืนที่ผ่านมาสหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB) ได้มีการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อม ได้ปรับตัวขึ้น 4.5 จุด สู่ระดับ 94.4 ในพฤษภาคม โดยสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 92.1

แต่อย่างไรก็ตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงถูกกดดันจากการประชุมนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ได้จัดขึ้นในวันที่9-10 มิถุนายน โดยนักลงทุนต่างจับตาดูผลการประชุมดังกล่าว ซึ่งจะมีการแถลงในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดี (11/6) ตามเวลาไทย โดยนักเศรษฐศาสตร์หลายรายคาดว่าเฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม ที่ระดับ 0.00-0.25% และได้คาดากรณ์ว่าเฟดมีแนวโน้มที่จะเปิดเผยแนวทางมากขึ้นในการประชุมครั้งนี้ เพื่อส่งสัญญาณถึงความตั้งใจที่เฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ใกล้ระดับ 0% ต่อไปอีก 2-3 ปี เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากผลกระทบของโรคโควิด-19 โดยระหว่าง 31.12-31.34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.15/17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้านี้ (10/6) ที่ระดับ 1.1344/46 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (9/6) ที่ระดับ 1.1256/58 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าวันนี้ได้มีการเปิดเผยดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมฝรั่งเศส ประจำเดือนเมษายน ได้ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ -20.1% จากระดับ -16.20% ในเดือนมีนาคม และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่จะอยู่ที่ระดับ -20.0% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1332-.1375 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1360/61

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/6) ที่ระดับ 107.69/70 ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (9/6) ที่ระดับ 107.90/91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากการเข้าถือครองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยของนักลงทุน ที่ยังคงจับตาดูผลการประชุมนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แม้ว่าในช่วงเช้าที่ผ่านมา ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้มีการเปิดเผย ราคาค้าส่งประจำเดือนพฤษภาคม ได้ปรับตัวลดลง 2.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบ 43 เดือน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบทรุดตัวลง อันเป็นผลมาจากการที่ภาวะเศรษฐกิจโลกได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.28107.88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.33/36 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (CPI) ของสหรัฐ (10/6), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของอิตาลี, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐ, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์ (11/6), ดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สหราชอาณาจักร, ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักร, ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมสหราชอาณาจักร และยูโรโซน, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครัฐมิชิแกนของสหรัฐ (12/6)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.25/0.35 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.2/-1.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ