หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ทะลุแสนล้าน “แสนสิริ” ขายรายแรกปีนี้แก้ปมหนี้สูง

วันจักร์ บุรณศิริ

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เผยยอดคงค้าง “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” ทะลุ 1 แสนล้านบาท “แสนสิริ” ประกาศแผนเสนอขาย “Perpetual Bond” 22-25 มิ.ย.นี้ 3 พันล้านฝ่าภาวะดอกเบี้ยต่ำ-ตลาดผันผวน ชี้บริษัทอสังหาฯส่วนใหญ่หนี้สินต่อทุนสูง ออกหุ้นกู้ทั่วไปลำบาก จึงต้องปลดล็อก เผยปีนี้ยังมี บจ.ขอออกแค่รายเดียว โบรกฯเตือนนักลงทุนระวังความเสี่ยง

นายวันจักร์ บุรณศิริ ประธานผู้บริหารสายงานการเงินและสนับสนุนธุรกิจ บมจ.แสนสิริ (SIRI) เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนเสนอขายหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ (Perpetual Bond) แก่ผู้ลงทุนทั่วไป มูลค่าไม่เกิน 3,000 ล้านบาท เปิดจองซื้อระหว่างวันที่ 22-25 มิ.ย.นี้ ขั้นต่ำ 100,000 บาท และทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยในช่วง 5 ปีแรกเท่ากับ 8.50% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน ซึ่งทริสเรทติ้งจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทอยู่ที่ BBB+/negative และอันดับความเชื่อถือของหุ้นกู้อยู่ที่ BBB-

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า กลุ่มบริษัทอสังหาริมทรัพย์ มักจะมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) สูงกว่าบริษัทในกลุ่มอื่น ๆ เนื่องจากจำเป็นต้องกู้ยืมเพื่อนำเงินไปลงทุนในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ อย่างไรก็ดี วงเงินการออก Perpetual Bond ของกลุ่มอสังหาฯจะไม่สูงมากเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ

ทั้งนี้ ในภาวะดอกเบี้ยขาลง รวมถึงในช่วงเดือน มี.ค. 2563 ที่ตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกเผชิญความผันผวน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน รวมถึงส่งผลให้ผู้ออกหุ้นกู้แต่ละราย ต้องเสนอขายหุ้นกู้ในอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้น เพื่อสะท้อนความเสี่ยง โดยเฉพาะ Perpetual Bond ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าหุ้นกู้ปกติ

นางสาวอริยากล่าวว่า หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ได้รับความนิยมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในปี 2562 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่จะสามารถนับการระดมทุนผ่าน Perpetual Bondเป็นทุนของบริษัทได้ ก่อนที่จะต้องปรับเงื่อนไขตามมาตรฐานบัญชีใหม่ มิเช่นนั้นจะถูกบันทึกเป็นหนี้สินของบริษัทในงบการเงิน ทั้งนี้ ปัจจุบันมียอดคงค้าง Perpetual Bond ในระบบรวมมูลค่าประมาณ1.01 แสนล้านบาท จาก 11 บริษัท

โดยมีข้อสังเกตว่า บริษัทส่วนใหญ่ที่เสนอขาย Perpetual Bond จะเป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ เช่น บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ฯลฯ ซึ่งการระดมทุนส่วนใหญ่เพื่อนำไปลดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่เพิ่มขึ้น หลังการเข้าซื้อกิจการ (takeover)

“Perpetual Bond เป็นประโยชน์ต่อบริษัท ตรงที่สามารถนับเป็นทุนได้ บางบริษัทที่หนี้เพิ่มขึ้นเกินกว่าที่ต้องการ หรืออัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสูงเกินกว่าเงื่อนไขที่บริษัทสัญญาไว้กับนักลงทุนหรือสถาบันการเงินต่าง ๆ ดังนั้น หากจะกู้เพิ่มผ่านหุ้นกู้ปกติก็จะลำบากแล้ว เพราะอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนจะเพิ่มขึ้นไปใหญ่เลย” นางสาวอริยากล่าว

ทั้งนี้ จากข้อมูล ThaiBMA ในปีนี้ยังมีเพียง บมจ.แสนสิริ เป็นรายแรกและรายเดียวที่ขอออก Perpetual Bond

นอกจากนี้ มีรายงานว่า จากงบฯการเงินไตรมาส 1/2563 ที่ บมจ.แสนสิริแจ้งตลาดหลักทรัพย์ พบว่า บริษัทมีหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 2.6 เท่า

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า เนื่องจาก Perpetual Bond มีความเสี่ยงสูง ในแง่ที่ไม่สามารถไถ่ถอนได้ก่อนกำหนด อีกทั้งผู้ออกตราสารยังมีอำนาจขอไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนด (call option) และสามารถขอเลื่อนชำระดอกเบี้ยออกไปได้ไม่จำกัดครั้งตามกฎหมาย ส่งผลให้การเสนอขายทำได้ยากกว่าหุ้นกู้ปกติ นอกเหนือจากบริษัทผู้ออกจะมีผู้รับซื้อเป็นกลุ่มเฉพาะ

“นักลงทุนควรศึกษาลักษณะตราสารหนี้ และทำความเข้าใจว่า Perpetual Bond มีลักษณะคล้ายกับหุ้นสามัญ หรือกึ่ง ๆ เป็นหุ้นบุริมสิทธิ เพราะไม่การันตีว่าผู้ลงทุนจะได้ดอกเบี้ยตลอดเวลา รวมถึงให้ผลตอบแทนสูงแค่ช่วงแรก ๆ และมีความเสี่ยงในแง่ที่จะถูกเรียกคืนในช่วงดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งนักลงทุนก็จะสูญเสียโอกาสลงทุนที่จะได้รับดอกเบี้ยดีเท่าเดิม ดังนั้น อย่ามองแค่ผลตอบแทนของตราสารอย่างเดียว ให้ดูองค์ประกอบอื่น ๆ ด้วย” นายณัฐพลกล่าว