ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่า หลังเฟดยันตรึงดอกเบี้ยระดับต่ำต่อไป

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/6) ที่ระดับ 31.05/07 บาท ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (10/6) ที่ระดับ 31.13/15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง หลังจากที่เมื่อคืนนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) โดยระบุว่าเฟดมีความมุ่งมั่นที่จะใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐ ในช่วเวลาที่กำลังเผชิญกับความท้าทายในขณะนี้ โดยเฟดเชื่อว่าการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการจ้างงานให้ขยายตัวอย่างเต็มศักยภาพ และบรรลุเป้าหมายการรักษาเสถียรภาพด้านราคา ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อมนุษย์ และฉุดเศรษฐกิจในสหรัฐ และทั่วโลกทรุดตัวลงอย่างรุนแรง

ขณะเดียวกันการแพร่ระบาดของไวรัส และมาตรการต่าง ๆ ที่นำมาใช้เพื่อการป้องกันด้านสาธารณสุขนั้น กำลังทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างหนัก และทำให้ตัวเลขว่างงานพุ่งขึ้นด้วย นอกจากนี้ อุปสงค์ที่อ่อนแรงลง และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ กำลังทำให้อัตราเงินเฟ้อที่คำนวณจากราคาผู้บริโภคปรับตัวลงด้วย ด้วยสถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ คณะกรรมการ FOMC จึงได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% โดยคณะกรรมการคาดว่าจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวไปจนกว่าจะมั่นใจว่าเศรษฐกิจสามารถต้านทานปัจจัยลบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ได้ และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งเป้าหมายในการรักษาเสถียรภาพด้านราคา

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนายอุตตม สาวนายน รมว.คลังกล่าวถึงกรณีค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาอีกครั้งว่า เรื่องนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเป็นคนดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งกระทรวงการคลังจะมีการหารือกับ ธปท.ซึ่งปกติก็หารือกันอยู่แล้ว ส่วนแนวโน้มระยะต่อไปคงบอกไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไร หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องดูแลเพื่อให้สถานการณ์ค่าเงินบาทไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ ธปท.รู้อยู่แล้วว่าจะต้องดูแลอย่างไร เพื่อให้ทิศทางค่าเงินบาทสอดคล้องกับการฟื้นฟูของประเทศ สำหรับค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 30.85-31.03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 30.93/95 บาท/ดอลลาร์

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้านี้ (11/6) ที่ระดับ 1.1378/80 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (10/6) ที่ระดับ 1.1360/62 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามค่าเงินยูโรยังคงมีปัจจัยกดดันหลังจากที่ นายมิเชล บาร์นิเยร์ หัหน้าผู้แทนการเจรจาฝ่ายสหภาพยุโรป (EU) ว่าด้วยการแยกตัวของอังกฤษออกจาก EU (Brexit) กล่าวว่า อังกฤษเรียกร้องมากเกินไปในการเจรจาข้อตกลงการค้ากับ EU นายบาร์นิเยร์ กล่าวว่า อังกฤษกำลังต้องการทำข้อตกลงการค้ากับ EU โดยหวังได้รับสิทธิประโยชน์ใกล้เคียงกับการเป็นสมาชิก EU แต่ไม่ต้องการมีภาระผูกพัน ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไข Brexit ทั้งอังกฤษและ EU จะต้องบรรลุข้อตกลงการค้าภายในสิ้นเดือนตุลาคม และให้เวลาอีก 4 เดือนสำหรับรัฐสภาของแต่ละฝ่ายในการลงมติรับรองข้อตกลง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1335-1.1395 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1378/80/1.1201

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/6) ที่ระดับ 107.04/06 ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (10/6) ที่ระดับ 107.33/36 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นหลังการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ แต่อย่าไรก็ตามระหว่างวันได้มีการเปิดเผยผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยกระทรวงการคลังและสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นระบุว่าความเชื่อมั่นทางธุรกิจของบริษัทขนาดใหญ่ในญี่ปุ่น ทรุดตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปีในไตรมาส 2/2563 เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผลสำรวจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของบริษัทที่มีทุนจดทะเบียน 1 พันล้านเยน หรือมากกว่าดิ่งลงสู่ระดับ -47.6 ในไตรมาส 2/2563 จากระดับ -10.1 ในไตรมาส 1/2563 ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกัน 3 ไตรมาสแล้ว

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นในไตรมาส 2/2563 ถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 1/2552 ซึ่งในเวลานั้นดัชนีอยู่ที่ระดับ -51.3 ท่ามกลางวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นทั่วโลก หลังจากการล้มละลายของวาณิชธนกิจเลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิ้งส์ ในปี 2551 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 106.82-107.20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 106.83/85

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของประเทศสหรัฐ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนพฤษภาคมของประเทศ ประเทศสหรัฐ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เดือนพฤษภาคมของประเทศจีน ยอดรวมรถเดือนพฤษภาคมของประเทศจีน ความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนมิถุนายนจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.20/+0.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.5/-2.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ