ธุรกิจใหญ่ตุนสภาพคล่อง แห่กู้แบงก์ดันสินเชื่อ Q2 โตทะลุ 10%

ธุรกิจรายใหญ่แห่กู้แบงก์ตุนสภาพคล่อง “ศูนย์วิจัยกสิกรฯ” คาด Q2 สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่โตทะลุ 10% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสแรกโต 5.3% เหตุผู้ประกอบการโรลโอเวอร์หุ้นกู้ลำบากขึ้น-ต้นทุนพุ่ง หันซบสินเชื่อแบงก์แทน แถมธุรกิจหลายเซ็กเตอร์ต้องการ “ค่าใช้จ่าย” รวมถึง “ตุนสภาพคล่อง” รองรับผลกระทบโควิด-19 “ทีเอ็มบี” อัดสภาพคล่องธุรกิจรายใหญ่ช่วยอุ้มซัพพลายเชน-คู่ค้า ฟาก “LH BANK” จ่อปรับเป้าสินเชื่อใหม่ภายใน มิ.ย.นี้

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยกลุ่มงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมสินเชื่อในไตรมาส 2/2563 นี้ คาดว่าจะขยายตัว 6% โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่มีโอกาสเติบโตค่อนข้างสูงมากกว่า 10% ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ที่เติบโตอยู่ที่ 5.3% โดยยอดสินเชื่อคงค้างน่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งบางส่วนผู้ประกอบการกู้เงินเพื่อนำไปใช้จ่ายภายในบริษัทและเก็บสภาพคล่องไว้ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะใช้สินเชื่อมาก ได้แก่ กลุ่มการผลิต อสังหาริมทรัพย์ การพาณิชย์ สาธารณูปโภค ที่พักแรม และการบริการ เป็นต้น

“ปัจจัยการขยายตัวสินเชื่อขนาดใหญ่ ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่ต่ำในปี 2562 ซึ่งสินเชื่อหดตัวไป -0.8% ขณะที่ในไตรมาส 2 ปีนี้จะเห็นภาพการเบิกใช้วงเงินสินเชื่อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 1 เนื่องจากวิธีการระดมทุนผ่านช่องทางอื่น อย่างการออกหุ้นกู้ยังเป็นจังหวะที่ไม่เหมาะสม และมีต้นทุนที่แพงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการหันมาใช้แหล่งเงินทุนจากธนาคารพาณิชย์มากขึ้น จากเดิมรายใหญ่ไม่ค่อยพึ่งฟันดิ้งแบงก์ ดังนั้น ไตรมาส 2 สินเชื่อรายใหญ่น่าจะโตขึ้นมาก” นางสาวกาญจนากล่าว

ส่วนในแง่คุณภาพสินเชื่อนั้น นางสาวกาญจนากล่าวว่า สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ก็น่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับสินเชื่อทุกประเภทที่มีแนวโน้มด้อยคุณภาพมากขึ้นในไตรมาส 2 โดยคาดว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) คงค้างในไตรมาสดังกล่าวจะอยู่ที่ระดับ 3.45-3.55% ของสินเชื่อรวม เพิ่มจากไตรมาส 1 ที่อยู่ที่ 3.05% และจากสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 2.98%

นายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) กล่าวว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ตอนนี้ธุรกิจรายใหญ่หลายรายที่หุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอนไม่สามารถระดมทุน (rollover) ได้ ซึ่งมีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาท-1 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหญ่หันมาใช้สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์แทน

“อย่างไรก็ดี การเบิกใช้วงเงินสินเชื่อส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นการลงทุนขยายธุรกิจ แต่เป็นการขอสินเชื่อไว้เพื่อเสริมสภาพคล่องในธุรกิจเท่านั้น ส่วนแผนการลงทุนอาจจะพิจารณาหาจังหวะและโอกาสที่เหมาะสม” นายเสนธิปกล่าว

ทั้งนี้ ทีเอ็มบีจะสนับสนุนเงินทุนช่วยเหลือโดยตรงแก่พันธมิตรองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีความแข็งแกร่งกว่าให้ไปช่วยเหลือซัพพลายเออร์และคู่ค้าเอสเอ็มอีรายเล็ก อาทิ กลุ่มบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่, กลุ่มมิตรผล, กลุ่ม ปตท. และกลุ่มเอสซีจี ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารได้ช่วยเอสเอ็มอีที่เป็นคู่ค้าของธุรกิจขนาดใหญ่เหล่านี้พักชำระหนี้ไปแล้วกว่า 1,000 ราย และอยู่ระหว่างเตรียมให้เงินทุนหมุนเวียนกับพันธมิตรและคู่ค้าเอสเอ็มอีอีกกว่า 100 ราย คิดเป็นมูลค่า 500 ล้านบาท

“ในภาพรวมจะเห็นว่าสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีค่อนข้างมีปัญหาจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ธุรกิจขนาดใหญ่ยังสามารถไปได้ แต่ไม่ได้เห็นสัญญาณการขยายการเติบโต หรือขยายการลงทุนใหม่ ซึ่งการเติบโตสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากผู้ประกอบการต้องการเสริมสภาพคล่องไว้” นายเสนธิปกล่าว

นางสาวชมภูนุช ปฐมพร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH BANK) กล่าวว่า การเติบโตของสินเชื่อใหม่ในภาพรวมยังคงชะลอตัวจากสถานการณ์โควิด-19 และแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แม้ว่าธุรกิจขนาดใหญ่ส่งสัญญาณขอใช้สินเชื่อเพิ่มมากขึ้น ซึ่งธนาคารจะมีการทบทวนเป้าหมายการเติบโตปี 2563 ภายในเดือน มิ.ย.นี้ จากเดิมที่ตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อทั้งปีอยู่ที่ 7-8% แบ่งเป็นสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่โตที่ 2% สินเชื่อเอสเอ็มอีโตที่ 7-8% และสินเชื่อรายย่อยโตที่ 7-8%


“ในไตรมาสแรกสินเชื่อรวมของแบงก์ขยายตัวอยู่ที่ 3.4% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการยืดการชำระหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้ไม่มีการชำระคืนหนี้ ยอดสินเชื่อคงค้างโดยรวมจึงไม่ได้ปรับลดลง สินเชื่อจึงดูเติบโตได้ แต่แนวโน้มไตรมาส 2 กลุ่มรายใหญ่น่าจะโตชัดเจนขึ้น เพราะออกหุ้นกู้ไม่ได้ และเข้ามาใช้สินเชื่อแบงก์แทน” นางสาวชมภูนุชกล่าว