“อุตตม”คาดปี’64 บังคับใช้ภาษีอีเซอร์วิส สกัดเงินไหลออกนอกประเทศ4.5หมื่นล้าน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ อี-เซอร์วิส (e-Service ) หรือเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากแพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างประเทศ ที่ไม่มีบริษัทลูกในประเทศไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เป็นภาษีที่สอดรับการปฏิบัติในระดับสากล สำหรับผู้ประกอบการที่ให้บริการในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ระบบมีความเป็นสากล โดยจะเห็นรูปแบบภาษีได้ภายในปีนี้ และคาดว่าจะมีการบังคับใช้ในปี 2564

นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า หากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว จะส่งผลให้กรมมีการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 3,000 ล้านบาท โดยจากการคำนวณกลับไปตามการคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ถือว่าที่ผ่านมาประเทศไทยเสียดุลจากการที่เงินไหลออกไปนอกประเทศกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเชื่อว่ากฎหมายอีเซอร์วิส จะเข้ามาช่วยในเรื่องความเป็นธรรมของผู้ประกอบการที่ให้บริการในประเทศไทย

เบื้องต้น สรรพากรได้มีการหารือร่วมกับผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างประเทศแล้ว ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการยินดีที่จะเข้ามาเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายภาษีอีเซอร์วิส เนื่องจากทางบริษัทมีฝ่ายตรวจสอบกฎหมายส่วนนี้อยู่ว่าในประเทศใดบ้างที่ใช้กฎหมายในลักษณะนี้ ก็ยินดีที่จะชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนจะมีผู้ประกอบการต่างประเทศกี่รายเข้ามาสู่ฐานระบบภาษี สรรพากรยังไม่ได้รวบรวมข้อมูล แต่จากการสำรวจเบื้องต้น คาดว่าน่าจะมีแพลตฟอร์มใหญ่ๆ เช่น เฟซบุ๊ก เน็ตฟิก กูเกิล ยูทูบ เป็นต้น

สำหรับการออกกฎหมายดังกล่าว หากผู้ประกอบการต่างประเทศพยายามที่จะเลี่ยงภาษี สรรพากรก็จะมีกลไกการตรวจสอบในเรื่องภาษีระหว่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยได้เป็นสมาชิกในกลุ่มของประเทศต่างๆ ซึ่งสามารถขอความช่วยเหลือเรื่องเก็บภาษีระหว่างประเทศ และตรวจสอบข้อมูลการเก็บภาษีระหว่างกันได้

พร้อมกันนี้ หากผู้ประกอบการต่างประเทศเลี่ยงจ่ายภาษีไม่ยอมจดทะเบียน หรือไม่ปฏิบัติตามข้อกฎหมาย ก็จะต้องมีการเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่ม ค่าปรับตามกฎหมายภาษีที่ใช้กับผู้ประกอบการในประเทศไทย และกรมจะขอความร่วมมือกับหน่วยจัดเก็บภาษีระหว่างประเทศ เพื่อให้ช่วยติดตามจัดเก็บภาษีให้กับกรม

โดยการเรียกเก็บภาษีจากผู้ประกอบการต่างประเทศ จะเป็นการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) 7% จากยอดที่ใช้บริการ เช่น โดยทั่วไปผู้ประกอบการต่างประเทศจะเรียกเก็บค่าบริการผู้ใช้บริการที่อยู่ในไทย อย่างสมมติว่าเป็นสมาชิกเน็ตฟิค จะต้องจ่ายค่าบริการ 1,000 บาท ผู้ประกอบการต่างประเทศก็จะต้องจ่ายภาษีให้กับประเทศไทย 70 บาท

“ผู้ประกอบการต่างประเทศ ตามกฎหมายอีเซอร์วิส ที่มาให้บริการในประเทศไทยจะไม่เหมือนผู้ประกอบการของไทยที่จด Vat ในประเทศ เขาจะต้องส่ง Vat 7% จากค่าบริการเลย อย่างไรก็ดี เชื่อว่าผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างประเทศจะเข้ามาจดทะเบียนตามกฎหมาย เพราะจากการหารือกับผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ต้องการจดทะเบียน เพราะว่ากว่า 60 ประเทศก็มีการใช้กฎหมายนี้” นางสมหมายกล่าว