ค่าบาทแข็งค่า ได้รับแรงกดดันจากเงินไหลเข้า

ธนบัตร เงินบาท

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประะเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่าง 8-12 มิถุนายน 2563 ค่าเงินบาทค่อนข้างผันผวนในสัปดาห์นี้ โดยเปิดตลาดในวันจันทร์ (8/6) ที่ระดับ 31.47/51 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (5/5) ที่ระดับ 31.48/59 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินบาททยอยปรับตัวแข็งค่าโดยได้รับแรงหนุนจากเงินไหลเข้าที่มีมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่า โดยตลาดจับตาดูการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐระหว่างวันที่ 9-10 มิถุนายน ซึ่งคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% และย้ำว่าเฟดมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวจนถึงปี 2565 จนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และบรรลุเป้าหมายของเฟดในการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งรักษาเสถียรภาพของราคา

นอกจากนี้ เฟดยังคาดการณ์ว่า ในปีนี้เศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัวลง 6.5% ก่อนที่จะดีดตัวขึ้น 5% ในปี 2564 นอกจากนี้ในวันพุธ (10/6) ยังได้มีการเปิดเผยตัวเลข Core CPI ซึ่งเป็นตัวเลขที่บ่งชี้ระดับเงินเฟ้อของสหรัฐที่ระดับ -0.1% ซึ่งแย่กว่าคาดการณ์ที่ 0% ทั้งตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นที่น่าพอใจและผลการประชุมของเฟดที่ค่อนข้าง Dovish และแสดงความกังวลถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจนี้ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในวันศุกร์ (12/6) ค่าเงินดอลลาร์มีแรงเข้าซื้ออีกครั้ง หลังมีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ทั้งในสหรัฐและประเทศอื่น ๆ อีกทั้งยังมีรายงานจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากลดลงติดต่อกัน 3 เดือน

สำหรับประเทศไทย ในวันจันทร์ (8/6) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมเรื่องแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปว่าขณะนี้รัฐบาลพยายามอุดช่องโหว่ในการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีต่อภาคธุรกิจและประชาชนที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ เนื่องจากคาดว่าผลกระทบจะมีมากขึ้นในระยะ 3-4 เดือนข้างหน้า โดยขณะนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังออกมาตรการในการกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวในประเทศ โดยคาดว่าจะเห็นมาตรการใหม่ในไตรมาส 3 และจากสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังได้กล่าวในวันพฤหัสบดี (11/6) ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นคนดูแลอย่างใกล้ชิด โดยกระทรวงการคลังจะมีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นปกติอยู่แล้ว และย้ำว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องดูแลเพื่อให้สถานการณ์ค่าเงินบาทไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ในวันศุกร์ (12/6) นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.ประกาศว่ามีการให้ยกเลิกเคอรฟิว ห้ามออกนอกเคหสถาน แต่ยังคงการควบคุมการเดินทางเข้ามาราชอาณาจักร ทั้งทางบก น้ำ โดยเริ่มมีผลวันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน 2563 ควบคู่การผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 4 ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมมีความเสี่ยงสูง ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.83-31.51 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (12/6) ที่ระดับ 30.97/99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าก่อนจะกลับมาแข็งค่าหลังการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ โดยเปิดตลาดในวันจันทร์ (8/6) ที่ระดับ 1.1290/91 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (5/6) ที่ระดับ 1.1330/32 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ในวันจันทร์ (5/6) สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีรายงาน การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายนปรับตัวลดลง  17.9% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งถือเป็นการหดตัวรายเดือนที่รุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และดิ่งลง 25.3% หากเทียบเป็นรายปี โดยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้บริษัทต่าง ๆ ในเยอรมนีต้องปรับลดการผลิต ต่อมาในวันอังคาร (9/6) สำนักงานสถิติของรัฐบาลกลางเยอรมนีเปิดเผยยอดส่งออกในเดือนเมษายนหดตัว 24% ขณะที่ยอดนำเข้าของเยอรมนีในเดือนเมษายนลดลง 16.5% และยอดเกินดุลการค้า หดตัวลงเหลือ 3.2 พันล้านยูโร แม้ว่าค่าเงินยูโรทยอยแข็งค่าได้หลังการประชุมเฟด

ค่าเงินยูโรยังคงอยู่ในภาวะไม่แน่นอนหลังสหภาพยุโรปและอังกฤษยังคงไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ โดยในวันพฤหัสบดี (11/6) นายมิเชล บาร์นิเยร์ หัวหน้าผู้แทนการเจรจาฝ่ายสหภาพยุโรป (EU) ว่าด้วยการแยกตัวของอังกฤษออกจาก EU (Brexit) กล่าวว่า อังกฤษเรียกร้องมากเกินไปในการเจรจาข้อตกลงการค้ากับ EU นายบาร์นิเยร์กล่าวว่า อังกฤษกำลังต้องการทำข้อตกงการค้ากับ EU โดยหวังได้รับสิทธิประโยชน์ใกล้เคียงกับการเป็นสมาชิก EU แต่ไม่ต้องการมีภาระผูกพัน

ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไข Brexit ทั้งอังกฤษและ EU จะต้องบรรลุข้อตกลงการค้าภายในสิ้นเดือนตุลาคม และให้เวลาอีก 4 เดือนสำหรับรัฐสภาของแต่ละฝ่ายในการลงมติรับรองข้อตกลง และในวันศุกร์ (12/6) สำนักงานสถิติฝรั่งเศส (INSEE) รายงานว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของฝรั่งเศสในเดือนเมษายนลดลงจากเดือนก่อน 20.1% หลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1239-1.1422 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (12/6) ที่ระดับ 1.1319/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดในวันจันทร์ (8/6) ที่ระดับ 109.43/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (5/6) ที่ระดับ 109.23/26 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ สหรัฐในวันจันทร์ (5/6) เงินเยนอ่อนค่า แม้ว่าสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้มีการประกาศปรับเพิ่มประมาณการตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ปี 2563 โดยระบุว่า GDP ไตรมาส 1 ปี 2563 หดตัวลง 2.2% จากไตรมาส 4 ปี 2562 ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ไว้

โดยก่อนหน้านี้ นายยาซูโตชิ นิชิมูระ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจญี่ปุ่นเคยเปิดเผยว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ซึ่งมีเป้าหมายที่จะบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น จะช่วยหนุนตัวเลข GDP ของญี่ปุ่นขยายตัวราว 2% อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นจากภาคธุรกิจกลับสวนทางโดยในวันพฤหัสบดี (11/6) กระทรวงการคลังและสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นระบุว่า ผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจของบริษัทขนาดใหญ่ในญี่ปุ่น ทรุดตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปีในไตรมาส 2 ปี 2563 เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผลสำรวจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของบริษัทที่มีทุนจดทะเบียน 1 พันล้านเยน (9.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือมากกว่า ดิ่งลงสู่ระดับ -47.6 ในไตรมาส 2 ปี 2563 จากระดับ -10.1 ในไตรมาส 1 ปี 2563 ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกัน 3 ไตรมาสแล้ว

ทั้งนี้ค่าเงินเยนค่อนข้างผันผวนในวันศุกร์ (12/6) โดยปรับตัวแข็งค่าในช่วงเช้า สอดรับกับการที่นักลงทุนเข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัยก่อนจะกลับไปอ่อนค่าในช่วงบ่าย โดยล่าสุดสำนักข่าวชินหัวรายงานว่า ญี่ปุ่นกำลังวางแผนที่จะผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางที่เกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ในฤดูร้อนนี้ โดยจะเริ่มต้นจากการอนุญาตให้นักธุรกิจที่มาจากออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ไทย และเวียดนาม เดินทางเข้าญี่ปุ่นได้ไม่เกิน 250 คนต่อวัน ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 106.56-109.69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (12/6) ที่ระดับ 107.42/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ