เคาะตั้งกองทุนอุ้ม “หุ้นกู้เสี่ยงสูง” รับซื้อราคาดิสเคานต์ต่อชีวิตธุรกิจ

ก.ล.ต.ผนึกตลาดทุนถกตั้งกลไกพิเศษอุ้มหุ้นกู้เกรดต่ำ “ไฮยีลด์บอนด์” หวั่นธุรกิจขาดสภาพคล่องกระทบทั้งระบบ ดึงบริษัทบริหารสินทรัพย์ช่วยรับซื้อ ตลท.ขานรับสร้างกลไกพิเศษดูแล “หุ้นกู้เสี่ยงสูง” ชี้ผู้ถือหุ้นกู้เดิมต้องยอมรับความสูญเสีย “ราคาถูกดิสเคานต์” เผยหลายบริษัทดิ้นต่อลมหายใจขอเลื่อนไถ่ถอน ชี้ปีนี้หุ้นกู้เสี่ยงสูงครบกำหนดไถ่ถอนกว่า 3 หมื่นล้าน

ตั้งกอง “ทรัสต์” อุ้มไฮยีลด์บอนด์

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ก.ล.ต.ได้จัดการประชุมร่วมกับที่ปรึกษาและคณะกรรมการกำกับและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ ตัวแทนจากชมรมวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และนายกสมาคมบริษัทบริหารสินทรัพย์ไทย รวมทั้งผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและกรมสรรพากร เกี่ยวกับความเป็นไปได้และแนวทางการจัดตั้งกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารที่ต่ำกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้ (high yield bond) โดยมีความเห็นร่วมกันในหลักการถึงความจำเป็นในการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว ซึ่งจะมีการนำเสนอแนวทางให้กระทรวงการคลังพิจารณาสัปดาห์หน้าเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้ผู้ออกตราสารหนี้บางรายที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ได้มีการระดมทุนผ่าน high yield bond ให้มีสภาพคล่องและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ (bridge financing) และเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ผู้ลงทุนลงทุนผ่านมืออาชีพทดแทนการลงทุนโดยตรงในตราสารดังกล่าว โดยมีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนที่เหมาะสมกับฐานะการเงินและความเสี่ยงที่ยอมรับได้

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นจะเป็นการจัดตั้งกองทุนในรูปแบบกองทุนรวมหรือทรัสต์ ซึ่งเป็นกองทุนปิดที่มีการบริหารจัดการโดยมืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญ ขายให้เฉพาะผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่เท่านั้น โดยเน้นลงทุนใน high yield bond และจะผ่อนคลายบางกฎเกณฑ์เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการจัดตั้งและบริหารกองทุน นอกจากนี้ อยู่ระหว่างหารือเกี่ยวกับมาตรการจูงใจ เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง

“ทุกหน่วยงานที่ร่วมประชุมในวันนี้เข้าใจสถานการณ์ปัจจุบัน และเห็นถึงความจำเป็นในการจัดตั้งกองทุน high yield bond โดย ก.ล.ต.พร้อมที่จะเสนอเรื่องให้กับคณะกรรมการกำกับตลาดทุนเพื่อพิจารณาผ่อนคลายเกณฑ์ที่อาจเป็นข้อจำกัด และจะเสนอขอรับงบประมาณสนับสนุนให้มีบทวิเคราะห์ตราสารหนี้จากคณะกรรมการ ก.ล.ต.” นางสาวรื่นวดีกล่าว

“สมคิด” สั่งต่อลมหายใจธุรกิจ

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายกระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไปหากลไกดูแลหุ้นกู้บริษัทเอกชนต่าง ๆ ที่มีเครดิตเรตติ้งต่ำกว่าระดับลงทุน หมายถึงต่ำกว่า BBB+ หรือที่เรียกว่า “ไฮยีลด์บอนด์”

“รองนายกฯมองว่า ตอนนี้บริษัทที่เรตติ้งต่ำกว่าระดับลงทุน หาเงินมาหมุนในธุรกิจไม่ได้ ซึ่งจะเกิดปัญหาต่อระบบ ซึ่งภาวะขณะนี้เป็นผลกระทบโควิด-19 ไม่ใช่ภาวะปกติ การจะไปจัดเครดิตเรตติ้งแบบภาวะปกติคงไม่เหมาะสม ดังนั้นก็ต้องหาทางพยุงบริษัทเหล่านี้โดยอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปช่วย ซึ่งก็อาจจะใช้การตั้งกองทุนขึ้นมาดูแล”

โดยจะต้องมีกลไกของบริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) เข้ามาร่วมด้วย เนื่องจากอาจจะต้องมีการดูแลบริษัทที่ประสบปัญหาสภาพคล่องด้วย

พยุงสภาพคล่องธุรกิจ

แหล่งข่าวกล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีกลไกของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งมาตรการเสริมสภาพคล่องกองทุนรวม (MFLF) และกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) 4 แสนล้านบาท แต่ของ ธปท.เป็นการดูแลเฉพาะหุ้นกู้ที่อยู่ในระดับ investment grade เท่านั้น

“ตอนนี้เป็นภาวะไม่ปกติ ดังนั้นอาจจะมีปัญหาเกิดขึ้นอีก ดังนั้น รัฐบาลและกระทรวงการคลังจึงเห็นว่า ต้องมีการพยุงไม่ให้ตลาดเกิดภาวะถดถอยไปเรื่อย ๆ โดยสร้างตลาดรองขึ้นมารองรับดูแลหุ้นกู้ที่ต่ำกว่าระดับลงทุน รวมถึงจะต้องมีการขยายบทบาทของเอเอ็มซีมาช่วยดูแล ช่วยซื้อหนี้ตั๋วบี/อีไปแก้ปัญหาก่อนจะเกิดปัญหา”

ตลท.หนุนดูแลหุ้นกู้เสี่ยงสูง

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า การเข้าไปดูแลหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง เป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญ ปัจจุบันเห็นความพยายามแก้ปัญหาหลายวิธี วิธีหนึ่งคือการขอยืดอายุหุ้นกู้

“แนวทางที่ตอนนี้ภาครัฐกำลังทำคือการจะจัดตั้งเป็นกองทุนต่าง ๆ เรามองว่าเป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นเรื่องที่ดี แต่จะทำอย่างไรให้ผู้ออกหุ้นกู้ ผู้ถือหุ้นกู้ปัจจุบัน และนักลงทุนรายใหม่จะสามารถบาลานซ์ผลตอบแทน บาลานซ์สิ่งที่จะได้หรือสูญเสีย ซึ่งต้องช่วยกันคิดและเสนอความเห็นว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็น” นายภากรกล่าว

สำหรับแนวทางเบื้องต้นที่ได้หารือภายในกลุ่มตลาดทุนและสถาบันการเงินต่าง ๆ คือการที่จะสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์และความสูญเสีย ถ้าเป็นไปได้อยากจะให้เป็นไปตามกลไกตลาดให้ได้มากที่สุด คือต้องมีการดูความเสี่ยง ต้องดูความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย ความสามารถในการคืนเงินต้นของแต่ละบริษัทที่ออกหุ้นกู้ และนักลงทุนที่ซื้อเป็นนักลงทุนประเภทไหน และจะมีการรับความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงได้ในอนาคตได้อย่างไรบ้าง

ผู้ถือหุ้นกู้ต้องยอมถูกดิสเคานต์

นายภากรกล่าวว่า เพราะฉะนั้นต้องมี 3-4 กลุ่มผู้เล่นที่ต้องเข้ามาช่วยคิดวัตถุประสงค์และมีวิธีการ ในกรณีที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ตกลงกันไม่ได้ สามารถทำให้ผู้ออกและผู้ถือหุ้นกู้บาลานซ์ผลประโยชน์และความเสียหายกันได้

“เราต้องมาช่วยกันคิดว่าจะมีตราสารอะไร จะมีขั้นตอนการทำอย่างไร จะมีการใส่เงินอุดหนุนการสูญเสียอย่างไร จะมีการปรับโครงสร้างของบริษัทหรือการแบ่งประโยชน์ของผลตอบแทนในอนาคตให้กับผู้ถือหุ้นกู้ใหม่ได้อย่างไร จะทำอย่างไรให้ผู้ถือหุ้นกู้เก่ายอมรับว่ามีความเสี่ยง เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดจะขาย อยากได้สภาพคล่องกลับมา จะต้องรับว่าจะต้องมีส่วนลด (discount) เท่าไร ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องมาช่วยกันคิดเป็นกลุ่มโครงสร้างออกมา และดูว่าตราสารหรือบริษัทประเภทไหนบ้างที่เข้าขอบเขต เพราะฉะนั้น ต้องช่วยกันทั้งอุตสาหกรรม มาช่วยกันวางมาตรฐานกลยุทธ์ในการปรับโครงสร้างเพื่อให้หุ้นกู้อยู่ต่อได้แบบที่ยังมีความต้องการจากตลาดจริง ๆ” นายภากรกล่าว

ปีหน้าเสี่ยงหุ้นกู้ผิดนัดชำระ

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่ ก.ล.ต.เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือถึงแนวทางช่วยเหลือผู้ออกหุ้นกู้ ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับลงทุน ยังต้องรอดูรายละเอียดนโยบายที่ชัดเจน ขณะที่การขายหุ้นกู้ในช่วงเวลานี้อาจทำได้ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากที่ผ่านมากองทุนรวมประเภทไฮยีลด์บอนด์เพิ่งเผชิญแรงขายหน่วยลงทุนอย่างรุนแรง ส่งผลให้นักลงทุนยังคงแพนิกต่อการลงทุนในตราสารหนี้เอกชน แม้ว่า ณ ขณะนั้นจะยังไม่มีหุ้นกู้ที่เกิดการผิดนัดชำระหนี้ (default)

นางสาวอริยากล่าวว่า ส่วนสถานการณ์การผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้ปีนี้อาจจะยังไม่เห็นสัญญาณ เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้แต่ละบริษัทยังสามารถขอผ่อนผันผู้ถือหุ้นกู้ หรือเจ้าหนี้ออกไปได้ก่อน โดยขึ้นอยู่กับแผนของแต่ละบริษัทที่จะให้ความเชื่อมั่นกับทางเจ้าหนี้ว่า หากที่ประชุมอนุมัติให้ยืดชำระออกไป 6 เดือนหรือ 1 ปี เมื่อถึงเวลานั้นจะต้องมีกระแสเงินสดมาชำระคืนได้ อย่างไรก็ตาม หากครบกำหนดรอบใหม่ และบริษัทยังไม่สามารถชำระคืนได้ จะต้องมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ใหม่ ซึ่งต้องมีมติ 2 ใน 3 ของสิทธิออกเสียง และหากไม่ผ่านจะถือว่ามีการผิดนัดชำระหนี้ทันที ฉะนั้น ปีหน้าบริษัทที่เลื่อนไถ่ถอนยังมีความเสี่ยงสูงที่ต้องติดตามต่อไป

หุ้นกู้เสี่ยงสูงครบปีนี้ 3 หมื่นล้าน

นางสาวอริยากล่าวว่า หุ้นกู้ไฮยีลด์บอนด์ที่จะครบกำหนดสิ้นปีนี้มีมูลค่ารวมประมาณ 31,800 ล้านบาท และมียอดคงค้างกว่า 1.8 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% ของมูลค่าหุ้นกู้คงค้างรวมทั้งหมด 3.8 ล้านล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลที่รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า จากตั้งต้นปีถึงปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) 9 บริษัท แจ้งขอยืดระยะเวลากำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ ได้แก่ บมจ.เจ.เอส.พี.พร็อพเพอร์ตี้ (JSP) บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น (PACE) บมจ.เอเชีย แคปปิตอลกรุ๊ป (ACAP) บมจ.พีพี ไพร์ม (PPPM) บมจ.ณุศาศิริ (NUSA) บมจ.ไมด้า แอสเซ็ท (MIDA) บมจ.ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป (CWT) บมจ.เอเพ็กซ์ ดีเวลลอปเม้นท์ (APEX) และ บมจ.พรีเชียส ชิพปิ้ง (PSL)

เอเอ็มซีแท็กทีมรับมือ


นายสุชาติ บุญบรรเจิดศรี นายกสมาคมบริษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (TAMCA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาครัฐมีแนวคิดที่จะให้เอเอ็มซีเข้าไปซื้อหุ้นกู้ไฮยีลด์บอนด์ โดยอาจจะต้องทำงานร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และออกเป็นยูนิตทรัสต์ (unit trust) เพื่อมาซื้อหุ้นกู้ดังกล่าว ซึ่งประเด็นอยู่ที่ระดับราคาหุ้นกู้และความเสี่ยงที่จะเข้าไปรับซื้อ ซึ่งจะต้องพิจารณาความน่าเชื่อถือบริษัท และงบการเงินด้วย แต่เชื่อว่าภาครัฐจะเข้ามาช่วยแชร์ความเสี่ยงดังกล่าว ซึ่งภาครัฐมีแนวคิดจะให้ภาคเอกชนเข้าร่วม โดยอาจเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และนักลงทุนที่สนใจลงทุน เป็นต้น