บาทอ่อน กังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างวันที่ 25 กันยายน-29 กันยายน 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (25/9) ที่ 33.07/09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/9) ที่ระดับ 33.08/10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงสุดท้ายที่ผ่านมา นายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ได้ออกแถลงการณ์เตือนสหรัฐว่าจะเผชิญกับมาตรการตอบโต้อย่างแข็งกร้าวจากเกาหลีเหนือในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ภายหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ได้กล่าวสุนทรพจน์โจมตีนายคิม จอง อึน และเกาหลีเหนือในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) ส่งผลให้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องตั้งแต่วันจันทร์ โดยได้รับแรงกดดันจากการที่นักลงทุนต้องการลดความเสี่ยงด้วยการขายเงินบาทและซื้อคืนดอลลาร์ก่อนที่จะมีการประชุมกำหนดนโยบายทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เนื่องจากมีการเรียกร้องให้ลดดอกเบี้ยลงเพื่อชะลอการแข็งค่าของค่าเงินบาท โดยจากการพิจารณานโยบายการเงินในครั้งนี้ ทางคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (กนง.) มติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% โดยระบุว่าทาง กนง.ให้ความสำคัญเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพของระบบการเงินเป็นหลัก ส่วนเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนั้น นโยบายทางการเงินคงไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมด เนื่องจากต้องพิจารณาเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรม ดังนั้น กนง.จึงมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับปัจจุบันยังเหมาะสมอยู่ เพราะจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมา ยังคงแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยมีทิศทางการขยายตัวสูงขึ้นกว่าที่คาดไว้จากภาคการส่งออก และการท่องเที่ยว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ แม้จะเติบโตช้ากว่าที่คาด แต่ก็สามารถอธิบายได้ว่าเกิดจากผลทางด้านอุปทาน และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ทาง กนง.ยังได้ปรับเพิ่มความคาดการณ์การส่งออกปีนี้เป็นขยายตัว 8.0% จากเดิมคาดโต 5.0% นอกจากนี้ ค่าเงินบาทนั้นยังอ่อนค่าจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์จากถ้อยแถลงจากทางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดในคืนวันอังคาร (26/9) ซึ่งกล่าวถึงความจำเป็นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยระบุว่า เฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปต่อไป ถึงแม้จะมีความไม่แน่นอนในวงกว้างเกี่ยวกับแนวโน้มภาวะเงินเฟ้อ ทำให้นักลงทุนแปลความหมายจากถ้อยแถลงของเยลเลนว่า อัตราเงินเฟ้อที่ระดับต่ำในระยะนี้ ไม่ได้มีความสำคัญมากนักต่อนโยบายการเงินของเฟด โดยเฟดมุ่งความสนใจไปยังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเวลาที่ไม่ช้าเกินไป เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงจากสถานการณ์ที่อาจบีบบังคับให้เฟดต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วในอนาคต สำหรับปัจจัยด้านอื่น ๆ ในสหรัฐนั้น นักลงทุนได้ให้ความสนใจไปยังการประกาศแผนภาษีโดยสมาชิกสภาคองเกรสพรรครีพับลิกัน โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 33.07-33.49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.34/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

 

สำหรับการเคลื่อนไหวสกุลเงินยูโรในสัปดาห์นี้ ค่าเงินยูโรในวันจันทร์ (25/9) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1925/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/9) ที่ระดับ 1.1975/78 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (22/9) ไอเอชเอส มาร์กิต ได้เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของยูโรโซน ออกมาอยู่ที่ระดับ 56.7 ในเดือน ก.ย.เพิ่มขึ้นจากระดับ 55.7 ในเดือน ส.ค. และยังทำสถิติสูงสุดในรอบ 4 เดือน นอกจากนี้สำนักงานสถิติฝรั่งเศส (Insee) เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาสสอง ขยายตัว 0.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเท่ากับตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 และสอดคล้องกับการคาดการณ์โดยได้รับปัจจัยหนุนจากตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งสัปดาห์ จากปัจจัยจากผลการเลือกตั้งในเยอรมนีที่แสดงให้เห็นว่า พรรคอัลเทอร์เนทีฟ ฟอร์ เยอรมนี หรือ AFD ซึ่งเป็นพรรคขวาจัดได้รับเสียงสนับสนุนขึ้นอย่างมาก และสิ่งนี้สร้างความยากลำบากให้แก่นางแองเจลา เมอร์เคล นายกรัฐมนตรีในการหาทางจัดตั้งรัฐบาลผสม เพราะแนวร่วมพรรคอนุรักษ์นิยม หรือ CDU ของนางเมอร์เคล ได้รับเสียงน้อยลงเป็นอย่างมาก และพรรค AFD ซึ่งมีนโยบายต่อต้านผู้อพยพได้รับเสียงโหวตเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบันพรรคโซเชียล เดโมแครต หรือ SPD ประกาศว่าจะเปลี่ยนมาเป็นพรรคฝ่ายค้านแทน หลังจากคะแนนโหวตของ SPD ดิ่งลงแตะ 20.6% ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1933 ทั้งนี้ ทางเลือกเดียวที่เป็นไปได้ก็คือ การจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่างพรรค CDU พรรคฟรีเดโมแครต หรือ FDP และพรรคกรีนส์ ซึ่งเรียกว่า “แนวร่วมจาไมกา” อย่างไรก็ดี การจัดตั้งรัฐบาลผสมอาจจะต้องใช้เวลานานหลายเดือน เนื่องจากทางเยอรมนีไม่เคยจัดตั้งรัฐบาลกลางที่เป็นการรวม 3 ฝ่ายมาก่อน ผนวกกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่แข็งค่าขึ้นก็เป็นปัจจัยกดดันค่าเงินยูโรอีกเช่นกัน โดยตลอดสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1715-1.1960 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (29/9) ที่ระดับ 1.1795/97 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

 

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาด ในวันจันทร์ (25/9) เปิดตลาดที่ระดับ 111.97/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/9) ที่ระดับ 111.98/112.00 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยหนังสือพิมพ์นิกเกอิเปิดเผยผลสำรวจในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้มีสิทธิ์โหวต 44% วางแผนจะโหวตเลือกพรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ LDP ของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ในขณะที่มีเพียง 8% ที่วางแผนจะเลือกพรรคประชาธิไตย ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลัก ในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นในฐานะของสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากที่ความตึงเครียดบริเวณคาบสมุทรเกาหลีเกิดปะทุขึึ้นมาอีก และในวันอังคาร (26/9) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เปิดเผยรายงานการประชุมกำหนดนโยบายประจำวันที่ 19-20 กรกฎาคม โดยรายงานระบุว่า ผู้กำหนดนโยบายของบีโอเจกล่าวว่า พวกเขาควรจะใช้กรอบนโยบายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันต่อไป และพวกเขามีเหตุผลที่จะคาดการณ์ในทางบวกต่อราคาผู้บริโภค เพราะว่ามาตรวัดการคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อยุติการร่วงลงแล้ว ทั้งนี้ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าในช่วงปลายสัปดาห์ โดยนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น ประกาศให้มีการยุบสภาในวันพฤหัสบดีที่ 28 ก.ย.นี้ เพื่อจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะมีขึ้นก่อนกำหนด 1 ปี และเป็นช่วงเดียวกับที่คะแนนนิยมของนายอาเบะกำลังกระเตื้องขึ้นจากภัยคุกคามเกาหลีเหนือ และความวุ่นวายภายในพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งนายอาเบะกล่าวว่า การประกาศยุบสภาครั้งนี้เพื่อขอฉันทานุมัติครั้งใหม่จากประชาชนในการแก้ “วิกฤตชาติ” ในภาวะที่ภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือกำลังทวีความรุนแรงขึ้น โดยตลอดสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 111.48-113.25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (29/9) ที่ระดับ 112.50/52 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ