40 บจ.ส่อพับแผนซื้อหุ้นคืน หันกอดเงินสดตุนสภาพคล่อง

40 บจ.ส่อพับแผน “ซื้อหุ้นคืน” หลังผ่านครึ่งปีมีแค่ 5 รายซื้อหุ้นคืนตามแผนที่ประกาศไว้รวม 45 บริษัท ชี้สถานการณ์เปลี่ยน “ตลาดรีบาวนด์-ต้องกอดเงินสดประคองตัวช่วงวิกฤต” ฟาก “บล.กสิกรไทย” มองไม่ช่วยประคองราคาช่วงตลาดผันผวน “บล.ยูโอบีฯ” คาดธุรกิจปรับแผนแห่ “เพิ่มทุน”ตลท.ชี้หุ้นไทยเริ่มกลับสู่ปกติ เผย มิ.ย. SET index บวกแล้ว 4%

วิจิตร อารยะพิศิษฐ

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า หลังจากตั้งแต่ต้นปี 2563 มา พบว่ามีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ประกาศโครงการซื้อหุ้นคืนรวม 45 แห่งโดยเฉพาะช่วงปลายเดือน มี.ค.ถึงเดือน เม.ย.ที่เป็นวันเริ่มโครงการมากกว่า 50% ของโครงการที่ประกาศทั้งหมด ซึ่งเป็นหลังจากผ่านช่วงที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET ปรับลงต่ำสุดที่ 969 จุด

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันพบว่ามีเพียง 5 บริษัท หรือคิดเป็น 15% ของ บจ.ทั้งหมดเท่านั้นที่เข้าซื้อหุ้นคืนตามแผนที่ประกาศเอาไว้ ได้แก่ บมจ.อาร์เอส (RS) ซื้อหุ้นคืน 15 ล้านหุ้นตามเป้าหมายมูลค่ารวม 160.2 ล้านบาท, บมจ.บางสะพานบาร์มิล (BSBM) 11.3 ล้านหุ้น มูลค่า 10 ล้านบาท, บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) 97 ล้านหุ้น มูลค่า 4,857.9 ล้านบาท, ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) 23.9 ล้านหุ้นมูลค่า 3,208.0 ล้านบาท, บมจ.ทีพีไอโพลีน (TPIPL) 383.6 ล้านหุ้นมูลค่า 453.3 ล้านบาท และ บมจ.แกรททิทูด อินฟินิท (GIFT) 70 ล้านหุ้น มูลค่า 210 ล้านบาท

“หุ้นที่ซื้อคืนล้วนเป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะที่อีก 40 บริษัทที่เหลือกลับซื้อหุ้นคืนไม่ถึง 10% ของจำนวนหุ้นที่ประกาศเอาไว้ โดยตอนนี้ ตลาดรีบาวนด์กลับขึ้นมาแล้ว และในช่วงวิกฤตแบบนี้โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 2 ที่หลาย ๆ บริษัทได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เต็ม ๆ กลายเป็นว่า story ของตลาดไม่เหมาะที่จะซื้อหุ้นคืนแล้ว สู้เก็บเงินสดไว้เลี้ยงธุรกิจดีกว่า”

นายพงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.กสิกรไทยกล่าวว่า ในช่วงที่วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรมเช่นนี้ ส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ปรับลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการซื้อหุ้นคืนในยามตลาดผันผวนอาจไม่ประสบความสำเร็จในการประคองราคาหุ้นมากนัก

“คุณจะมีเงินทุนเข้ามาซื้อประคองอีกกี่ก้อน ดัชนีมันก็ฝ่าลงไปได้ ซึ่งถ้าช่วยไม่ได้ก็อย่าไปทำ เก็บเงินเอาไว้ทำอย่างอื่นดีกว่า แต่ตอนนั้นคงไม่มีใครรู้ว่าโควิด-19 จะมา จึงประกาศแผนซื้อหุ้นคืนไปก่อน อย่างธนาคารกสิกรไทยก็ทำไปช่วงต้นปีก่อนที่จะเกิดโควิด-19”

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบีเคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยประเมินว่าเป็นทางเลือกที่ถูกต้องสำหรับบริษัทที่เปิดโครงการซื้อหุ้นคืนไว้ถึงปัจจุบันและไม่เข้าซื้อหุ้นคืนตามแผนเนื่องจากในภาวะที่ตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนการซื้อหุ้นคืนปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งไม่เหมาะสมกับการนำสภาพคล่องของบริษัทเข้าไปลงทุน

ส่วนแนวโน้มต่อจากนี้ บจ.น่าจะประกาศเพิ่มทุนกันมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง มิ.ย.นี้ก่อนที่งบฯไตรมาส 2 จะเริ่มประกาศ เนื่องจากในไตรมาสแรกธุรกิจ ยังได้รับผลกระทบจากโควิดไม่เต็มที่นัก ซึ่งการขอเพิ่มทุนในช่วงที่งบฯออกมาดีมีโอกาสสูงที่นักลงทุนจะให้การตอบรับและมีโอกาสเพิ่มทุนสำเร็จมากกว่า

“ในปีที่มีทั้งวิกฤตเศรษฐกิจและโควิด พอผลกระทบเริ่มชัดจะเห็นว่าหลาย ๆ บริษัทเริ่มขอเพิ่มทุนเพื่อเสริมสภาพคล่อง อย่างกรณีของ บมจ.ราชธานีลิสซิ่ง (THAINI) ที่ตัดสินใจเพิ่มทุนหลังงบฯไตรมาสแรกออกมาดี ซึ่งสามารถนำเงินไปจ่ายคืนหุ้นกู้ที่จะครบอายุของบริษัทในปีนี้ได้ รวมถึงช่วยให้ฐานทุนของบริษัทแข็งแกร่ง เพิ่มโอกาสในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ต่อในอนาคต”

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า SET index ใกล้กลับสู่ภาวะปกติแล้วนับตั้งแต่เกิดโควิด โดยดัชนีเดือน มิ.ย. ตั้งแต่วันที่ 1-11 มิ.ย. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4% โดยช่วงดังกล่าวมีเม็ดเงินจากต่างชาติกลับเข้ามาซื้อสุทธิ 184 ล้านดอลลาร์ จากเดือน พ.ค.ที่ขายสุทธิ 984 ล้านดอลลาร์ และเมื่อคำนวณผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันอยู่ที่ -11.6% ไม่แตกต่างจากภูมิภาคนัก