ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า นักลงทุนกังวลไวรัสโควิด-19 ระบาดรอบสอง

เงินดอลลาร์

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าในฐานะสกุลเงินปลอดภัย หลังนักลงทุนกังวลการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบสอง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 15-19 มิถุนายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (15/6) ที่ระดับ 31.00/02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (12/6) ที่ระดับ 30.97/99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นสัปดาห์ ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนักลงทุนเข้าซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบสอง หลังจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น

ล่าสุดกรุงปักกิ่งประกาศยกระดับเตือนภัยฉุกเฉินจากระดับ 3 สู่ระดับ 2 อีกทั้งสั่งปิดโรงเรียนทุกแห่ง ขณะที่กรุงปักกิ่งได้ประกาศมาตรการควบคุมการเดินทางของคนกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ที่เคยไปเยือนตลาดค้าส่งชินฟาตี้

อย่างไรก็ตาม ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ได้ปรับคาดการณ์ว่า GDP ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะหดตัวลง 2.7% ในปีนี้ ก่อนที่จะขยายตัว 5.2% ในปี 2564 โดยคาดว่าภาวะหดตัวทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นในประเทศขนาดใหญ่ เนื่องจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดได้ส่งผลกระทบต่อการอุปโภคบริโภค และการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งประเทศเหล่านี้รวมถึงประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะหดตัวลง 6.5%

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างสัปดาห์นั้น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้น เนื่องจากนักลงทุนขานรับข่าว หลังจากเฟดประกาศขยายขอบข่ายโครงการ Secondary Market Corporate Credit Facility  ซึ่งมีวงเงิน 7.5 แสนล้านดอลลาร์ โดยให้ครอบคลุมถึงการซื้อตราสารหนี้ของภาคเอกชนเป็นวงกว้าง พร้อมกับยกเลิกกฎระเบียบอันเข้มงวดที่เคยนำมาใช้สำหรับบรรดาผู้กู้ยืม โดยการดำเนินการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนสภาพคล่องในตลาดและจัดหาสินเชื่อให้กับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการจ้างงานจำนวนมาก อีกทั้ง นาย Jerome Powell, Federal Reserve President ได้แถลงต่อ Senate Banking  Committee ว่าด้วยการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่านมา ซึ่งมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายการเงินยังสอดคล้องกับแถลงผลการประชุม FOMC และรายงานนโยบายการเงินเมื่อสัปดาห์ก่อน

โดย Powell ประเมินว่าเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าและจะต้องอาศัยเวลาที่ยาวนานกว่าจะฟื้นตัวจากผลกระทบครั้งนี้ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งตราบใดที่ยังไม่สามารถวางใจได้ว่าการแพร่ระบาดจะสงบลงก็เป็นการยากที่เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ดี Fed จะใช้เครื่องมือทางนโยบายการเงินที่มีอย่างเต็มที่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการจ้างงานสูงสุดและเสถียรภาพด้านราคา ทั้งยังเพื่อรักษากลไกการทำงานในตลาดการเงิน ทางด้านแนวคิดในการใช้มาตรการ Yield-Curve Control นั้นยังอยู่ในช่วงเริ่มแรกของการพิจารณาเครื่องมือดังกล่าว

ซึ่งที่ผ่านมา Fed ยังไม่ได้มีการตัดสินใจใด ๆ เกี่ยวกับการใช้ Yield-Curve Control ขณะที่ตัวเลขททางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ได้แก่ รายงานยอดค้าปลีกของสหรัฐที่ทำสถิติพุ่งขึ้นแข็งแกร่งสุดเป็นประวัติการณ์ รวมถึงการเปิดเผยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานที่สูงเกินคาด โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจำนวน 1.5 ล้านรายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.3 ล้านราย ซึ่งตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกยังคงมีจำนวนมากกว่า 1 ล้านรายติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 13 แม้ว่ารัฐต่าง ๆ ได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และได้เปิดเศรษฐกิจครั้งใหม่

นอกจากนั้นความตึงเครียดจากสถานการณ์ความไม่สงบของคาบสมุทรเกาหลีที่ยังไม่มีการเจรจาระหว่างผู้นำของสองประเทศ รวมถึงเหตุปะทะที่บริเวณชายแดนประเทศอินเดียและประเทศจีน จนส่งผลให้ทหารอินเดียเสียชีวืตกว่า 20 นายนั้น เป็นอีกปัจจัยที่หนุนให้นักลงทุนกลับเข้าถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐและจีนอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.92-31.23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (19/6) ที่ระดับ 30.99/31.01 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดในวันจันทร์ (15/6) ที่ระดับ 1.1249/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/6) ที่ระดับ 1.1313/15 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินยูโรอ่อนค่าจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การเจรจาในการขยายเส้นตายของการแยกตัวของอังกฤษออกจากยูโรโซน (Brexit) โดยล่าสุด การหารือผ่าน video conference ระหว่างสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรในวันจันทร์ (15/6) ผู้นำทั้งสองฝ่ายต่างเห็นตรงกันว่า จะเร่งกระบวนการเจรจาข้อตกลงความสัมพันธ์ระหว่างกันภายหลัง Brexit ให้เร็วขึ้นในเดือน ก.ค. และจะพยายามหาหลักการที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันให้ได้โดยเร็ว หลังจากการหารือทั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมา ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายกังวลว่า ทั้งสองฝ่ายจะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ภายในระยะเวลาช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) ที่มีกำหนดจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 2020 เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต้องหาข้อตกลงร่วมกันให้ได้ภายในเดือน ต.ค.นี้ หากต้องการให้ข้อตกลง Brexit ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการภายในกำหนดเส้นตายของช่วง Transition Period ขณะที่สมาคมอุตสาหกรรมสหราชอาณาจักร เตือนว่า หากสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปไม่สามารถบรรลุข้อตกลง Brexit ได้ทันภายในสิ้นปีนี้ จะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรในระยะถัดไป

นอกจากนี้ ในวันพฤหัสบดี (18/6) คณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางอังกฤษมีมติเป็นเอกฉันท์ 9-0 ให้คงอัตราดอกเบี้นโยบายที่ระดับ 0.10% พร้อมประกาศขยายวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรา QE อีก 1 แสนล้านปอนด์ สู่ระดับ 7.45 แสนล้านปอนด์ เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1184-1.1352 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (19/6) ที่ระดับ 1.1208/10 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดวันจันทร์ (15/6) ที่ระดับ 107.28/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/6) ที่ระดับ 107.42/45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นหลังนักลงทุนหันเข้าซื้อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยจากความวิตกกัวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ที่เพิ่มขึ้นในกรุงโตเกียว และพื้นที่อื่น ๆ ทั่วโลก ได้ทำให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดรอบสอง

นอกจากนี้ในวันอังคาร (16/6) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ พร้อมกับคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ไว้ที่ระดับ 0% ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการจัดหาเงินทุนให้กับภาคเอกชนและโครงการซื้อสินทรัพย์เชิงรุก มูลค่ารวม 75 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ BOJ ยังประกาศขยายโครงการเงินกู้สำหรับบริษัทต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 จาก 75 ล้านล้านเยน เป็น 110 ล้านล้านเยน

ขณะที่ในวันพุธ (17/6) กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยยอดส่งออกและนำเข้าในเดือน พ.ค. ต่างก็ร่วงลงหนักสุดในรอบกว่า 10 ปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า อุปสงค์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกอ่อนแรงลงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ยอดส่งออกเดือน พ.ค.ร่วงลงอย่างหนักนั้น มาจากากรส่งออกรถยนต์ที่ทรุดฮวบลง 64.1% ซึ่งเป็นการร่วงลงหนักสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2554 ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 106.65-107.63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (19/6) ที่ระดับ 108.93/95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ