หั่นภาษีที่ดิน”ท้องถิ่น”รายได้วูบ “คลัง-สำนักงบฯ”แนะควักเงินสะสมใช้จ่าย

ภาษีที่ดิน

“คลัง-สำนักงบฯ” หนุนท้องถิ่นดึงเงินสะสม “แสนล้านบาท” ใช้จ่ายแทนรายได้ภาษีที่ดินที่หายไป 3.6 หมื่นล้านบาท หลังรัฐบาลไฟเขียวหั่นภาษี 90% อุ้มผู้ถือครอง “ที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง” ทุกประเภทบรรเทาผลกระทบโควิด-19 ขณะที่เปิดตัวเลขรายได้ อปท.กว่า 7 พันแห่ง ช่วงครึ่งปีงบประมาณแรกพบมีรายได้รวมต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนเฉียด 6 หมื่นล้านบาท เหตุเงินอุดหนุนฮวบหนัก

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รายได้ของท้องถิ่นที่จะหายไปราว 3.6 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าในปี 2563 จะเก็บได้ 3.9-4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทุกประเภท 90% จากภาระภาษีทั้งหมด ไม่น่าจะกระทบต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เนื่องจากรายได้ภาษีที่ดิน เป็นรายได้ที่จัดเก็บเอง ซึ่งสัดส่วนไม่ถึง 10% ของรายได้ทั้งหมดที่ อปท.ได้รับในแต่ละปี

ดังนั้น แม้จะมีการลดภาษีที่ดินลง 90% ซึ่งจะทำให้ท้องถิ่นเหลือรายได้จากส่วนนี้แค่ราว 4,000 ล้านบาท แต่ก็ไม่มีผลกระทบต่อฐานะของท้องถิ่น เนื่องจากท้องถิ่นยังมีรายได้จากส่วนอื่นอีกมาก ทั้งรายได้จากภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บให้ ภาษีที่รัฐบาลแบ่งให้ และเงินอุดหนุนจากรัฐบาลตามกฎหมายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอีก โดยรวม ๆ แล้ว ท้องถิ่นยังมีรายได้กว่า 7 แสนล้านบาท

“ท้องถิ่นมีรายได้ที่เก็บเองอยู่แค่ไม่ถึง 10% และเป็นในส่วนของภาษีที่ดินอยู่แค่ 4-5% ของรายได้ อปท.ทั้งหมด ขณะที่รายได้ก้อนใหญ่ที่ท้องถิ่นได้รับในแต่ละปี จะอยู่ที่เงินภาษีที่รัฐจัดเก็บให้ และรายได้ที่รัฐบาลแบ่งให้ อย่างภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีสรรพสามิต รวมถึงภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์ นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีเงินอุดหนุนทั่วไปตามกฎหมายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอีก”

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 62-มี.ค. 63) อปท.จำนวน 7,852 แห่ง มีรายได้รวมกว่า 3 แสนล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนกว่า 5.8 หมื่นล้านบาท หรือ 16.1% เนื่องจากรายได้จากเงินอุดหนุนลดลงไปกว่า 4.4 หมื่นล้านบาท และรายได้ที่จัดเก็บเองลดลงไป 9,400 ล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา รายได้ อปท.เทียบกับรายได้สุทธิของรัฐบาล มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 27.80% ในปีงบประมาณ 2558, เป็น 28.16% ในปีงบประมาณ 2559, เป็น 29.41% ในปีงบประมาณ 2560, เป็น 29.42% ในปีงบประมาณ 2561 และ 29.47% ในปีงบประมาณ 2562

“ปีนี้ต้องดูด้วยว่าเงินภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บได้ก็ลดลง ดังนั้น ภาษีส่วนที่แบ่งให้ท้องถิ่นก็อาจจะต้องลดลงไปตามสัดส่วนด้วย ส่วนเงินอุดหนุนก็ต้องเป็นไปตามสัดส่วนที่กำหนดไว้”

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า รายได้ภาษีที่ดินที่จัดเก็บได้ลดลง ไม่น่าจะกระทบต่อการดำเนินงานของท้องถิ่น เนื่องจากแต่ละท้องถิ่นยังมีเงินสะสมอยู่ โดยในภาพรวมแล้วท้องถิ่นมีเงินสะสมรวมกันเป็นแสนล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาใช้จ่ายในภารกิจของท้องถิ่นได้อยู่แล้ว ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่จะได้ทบทวนด้วยว่า แต่ละท้องถิ่นมีเงินสะสมมากน้อยเพียงใด

“ปีนี้ในส่วนที่เป็นเงินอุดหนุนท้องถิ่นจัดสรรให้ไปแล้ว 2.9 แสนล้านบาท เป็นไปตามกฎหมายกระจายอำนาจที่ต้องจัดสรรไม่ต่ำกว่า 25% ของรายได้รัฐบาลกลาง ส่วนที่เป็นเงินภาษีที่รัฐแบ่งให้ หรือจัดเก็บให้ ก็ต้องดูว่าในเมื่อรัฐบาลกลางเก็บรายได้ได้ลดลงทั้ง VAT ภาษีสรรพสามิต คลังจะแบ่งให้เท่าไหร่ ถ้าท้องถิ่นบอกว่ารายได้ไม่พอ ก็จะต้องไปทบทวนเรื่องเงินสะสมของท้องถิ่นด้วย ซึ่งควรจะนำส่วนดังกล่าวมาใช้ก่อน เพราะมีอยู่เป็นแสนล้านบาท”