SCBAM ปันผลกองทุนหุ้นสหรัฐ ‘SCBS&P500-SCBBLN’ มูลค่า 56 ล้านบาท 22 มิ.ย.นี้

บลจ.ไทยพาณิชย์ ประกาศจ่ายปันผล 2 กองทุนหุ้นสหรัฐ ‘SCBS&P500’ 0.3198 บาท และ ‘SCBBLN’ 0.5591 บาท รวมมูลค่า 56 ล้านบาท จ่ายจริงวันที่ 22 มิ.ย.นี้

นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBAM) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลกองทุนหุ้นต่างประเทศพร้อมกัน 2 กองทุน รวมมูลค่ากว่า 56 ล้านบาท ในวันที่ 22 มิถุนายน 2563 นี้ ประกอบด้วย กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยูเอส (SCBS&P500) สำหรับผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2562 – วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 และกำไรสะสม ในอัตรา 0.3198 บาทต่อหน่วย ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 14 รวมจ่ายปันผล 3.6708 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งกองทุนเมื่อ 18 ธ.ค. 2555) และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ บิลเลียนแนร์ (SCBBLN) สำหรับผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2562 – วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ในอัตรา 0.5591 บาทต่อหน่วย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจ่ายปันผลระหว่างกาลเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2562 ไปแล้วจำนวน 0.2537 บาทต่อหน่วย เหลือจ่ายงวดนี้ 0.3054 บาทต่อหน่วย นับเป็นครั้งที่ 8 รวมจ่ายปันผล 1.7378 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งกองทุนเมื่อ 24 ก.ค. 2558)

ทั้งนี้ กองทุน SCBS&P500 จัดเป็นกองทุน 4 ดาว ประเภท Thailand Fund US Equity ของมอร์นิ่งสตาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พ.ค. 2563) สามารถสร้างผลการดำเนินงานอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เน้นลงทุนในหน่วยลงทุน SPDR S&P 500 ETF Trust ที่บริหารจัดการโดย State Street Global Advisors ซึ่งมีการบริหารจัดการแบบ passive มีเป้าหมายที่จะสร้างผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนี S&P500 และมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ส่วนกองทุน SCBBLN มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก มีเป้าหมายที่จะสร้างผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนี Solactive US Top Billionaire Investors โดยทั้ง 2 กองทุนมีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 7.16% และ 23.59% ตามลำดับ (ข้อมูล ณ วันที่ 17 มิ.ย. 2563)

ในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวค่อนข้างผันผวนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ที่ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วไปทั่วโลกส่งผลให้หลายประเทศรวมถึงสหรัฐฯ ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถานเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก สร้างความกังวลให้นักลงทุนถึงผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้ ความกังวลนี้ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงและสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำอย่างรวดเร็วเพื่อถือครองเงินสด ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงอย่างรวดเร็วกว่าร้อยละ 35 โดยหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมและการเงินปรับตัวลดลงมากกว่าตลาดเนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง นอกจากนี้ กลุ่มพลังงานยังปรับตัวลดลงแรงจากอุปสงค์ที่ลดลงอย่างรวดเร็วสวนทางกับอุปทานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ภายหลังกลุ่มผู้ผลิต OPEC Plus ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการควบคุมปริมาณการผลิตได้

อย่างไรก็ตาม มาตรการ Lockdown ที่เกิดขึ้นเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้ส่งผลให้มีความต้องการในการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์แอปพลิเคชันรวมถึงการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นกลุ่มดังกล่าว รวมถึงหุ้นกลุ่ม Healthcare ก็เป็นอีกกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากความคาดหวังถึงความเป็นไปได้ในการคิดค้นวัคซีนต้านไวรัส Covid-19

“สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในระยะถัดไปคาดว่าจะสามารถปรับตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการการเงินและการคลังที่ถูกประกาศออกมาเป็นจำนวนมากเพื่อช่วยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและเป็นการประคับประคองเศรษฐกิจ นอกจากนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาอีกครั้งภายหลังจากหลายพื้นที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ลง ซึ่งจะส่งผลให้เป็นปัจจัยที่ทำให้การบริโภคภาคเอกชนค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น โดยสังเกตได้จากตัวเลขการจ้างงานที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น” นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว


อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดและผลจากมาตรการเยียวยาต่างๆ อย่างใกล้ชิดเพื่อดูแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่เริ่มกลับมาตึงเครียดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่นักลงทุนต้องให้ความสำคัญและใช้ความระมัดระวังก่อนตัดสินใจลงทุน