ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ตลาดติดตามผลประชุม กนง.สัปดาห์นี้

เงินบาท

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/6) ที่ระดับ 31.02/03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (19/6) ที่ระดับ 31.00/01 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนายแอริค โรเซนเกรน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาบอสตัน เปิดเผยว่า อัตราว่างงานในสหรัฐจะยังคงอยู่ที่ระดับสูงกว่า 10% ภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ความพยายามในการควบคุมโรคโควิด-19 ในสหรัฐจนถึงตอนนี้นั้นยังไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งสหรัฐยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าประเทศอื่น ๆ ซึ่งตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า การจ้างงานได้ลดลงเกือบ 20 ล้านตำแหน่ง

นอกจากนี้อัตราว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ระดับ 14.7% ในเดือน เม.ย. และชะลอลงสู่ 13.3% ในเดือน พ.ค. ซึ่งก็ยังคงเป็นอัตราการว่างงานในระดับที่สูงมาก นอกจากนี้นายนีล แคชคารี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขามินนิอาโปลิส กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจากวิกฤตที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นั้นอาจจะดำเนินไปช้ากว่าที่ผู้กำหนดนโยบายคาดไว้เบื้องต้น ซึ่งอาจจะรวมถึงการเกิดการติดเชื้อระลอกสองในฤดูใบไม้ร่วง และอัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้นอีกครั้ง

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.96-31.03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.98/31.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงเกี่ยวกับการขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล และงดซื้อหุ้นคืนว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก ส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจไทย ทั้งยังไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ และจะจบอย่างไร การรักษาภูมิคุ้มกันให้กับระบบเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญ

โดยแนวนโยบายดังกล่าวจะเป็นผลดีสำหรับผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ในระยะยาว เป็นผลดีต่อผู้ฝากเงิน และเป็นผลดีต่อระบบสถาบันการเงิน จะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์รักษาระดับเงินกองทุนให้อยู่ในระดับสูงได้ต่อเนื่อง เป็นกันชนรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต และมีเงินกองทุนที่จะสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยเมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง นอกจากนี้ตลาดยังติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ โดยมีคาดการณ์ว่าคณะกรรมการฯจะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เพื่อรอดูประสิทธิผลของมาตรการการเงินการคลังที่ได้ออกไปก่อนหน้านี้

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (22/6) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1182/86 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/6) ที่ระดับ 1.1214/18 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรได้รับแรงกดดันหลังการประชุมสุดยอดของสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเป็นการประชุมที่มีจุดประสงค์เพื่อลดความขัดแย้งเรื่องกองทุนฟื้นฟูขนาด 7.50 แสนล้านยูโร โดยแหล่งข่าวกล่าวว่า นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้กล่าวต่อผู้นำอียูว่า เศรษฐกิจอียูกำลังตกต่ำลงอย่างรุนแรง และเธอเรียกร้องให้อียูดำเนินมาตรการฟื้นฟู แต่ประเทศกลุ่ม frugal four ของอียู ซึ่งประกอบด้วย สวีเดน, เดนมาร์ก ออสเตรีย และเนเธอร์แลนด์ ระบุว่ากองทุนฟื้นฟูนี้มีขนาดใหญ่เกินไป

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1167-1.1226 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1216/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (22/6) เปิดตลาดที่ระดับ 106.78/81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/6) ที่ระดับ 106.93/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนและทองคำมีแรงเข้าซื้อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยหลังจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยรายงานล่าสุดว่า ณ วันที่ 21 มิ.ย. พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกเพิ่มอีก 183,020 ราย ทำให้สถิติยอดติดเชื้อรายวันสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ยอดรวมผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 8,708,008 ราย และพบผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 4,743 ราย ซึ่งทำให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 461,715 ราย

ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 106.74-107.00 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 106.95/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสองเดือน พ.ค. (22/6) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือน มิ.ย. จากมาร์กิต (23/6) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือน มิ.ย. จากมาร์กิต (23/6) ยอดขายบ้านใหม่เดือน พ.ค. (23/6) ดัชนีภาคการผลิตเดือน มิ.ย. จากเฟดริชมอนด์ (23/6) ดัชนีราคาบ้านเดือน เม.ย. (24/6) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (25/6) ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2563 (25/6) ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน พ.ค. (25/6) ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน พ.ค. (26/6) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (26/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.30/-0.15 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.00/+0.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ