หนุนรัฐเอื้อตั้งกองหุ้นกู้เสี่ยง แย้มเปิดทางรายย่อย ‘ลงขัน’

“บล.ภัทร” หนุนเปิดช่องตั้งกองไฮยีลด์บอนด์ ชี้ช่วยกระจายความเสี่ยง-ลดภาระภาครัฐ ดึงนักลงทุนที่เข้าใจความเสี่ยงลงทุน ฟากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยแย้มทางการจ่อเปิดทางให้รายย่อยลงขันกันลงทุนไฮยีลด์บอนด์ได้ พร้อมศึกษาจัดตั้งตลาดสินทรัพย์ที่มูลค่าต่ำผิดปกติ รับซื้อหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ออกจากตลาด

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การจัดตั้งกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารที่ต่ำกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้ (high yield bond) ตามแนวทางที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศออกมานั้น ถือว่าเป็นกลไกที่ดี ที่จะมีส่วนช่วยให้กลไกตลาดตราสารหนี้เป็นปกติได้มากขึ้น เพราะเป็นการระดมเงินจากภาคเอกชน โดยขายหน่วยลงทุนให้เฉพาะผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ ที่เข้าใจความเสี่ยงอย่างดี ไม่ได้ขายให้กับประชาชนทั่วไป ดังนั้น รัฐจะไม่มีภาระมาก เพียงแค่อำนวยความสะดวก โดยอนุญาตให้ตั้งกองทุนลักษณะนี้ได้ และหาแนวทางปกป้องผู้ลงทุน เช่น ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างไร และไม่เปิดให้รายย่อยทั่วไปลงทุน เป็นต้น

“แนวทางแบบนี้ สมมุติทำออกมาแล้ว ไม่มีใครลงทุนเลย ก็ไม่เป็นไร ดีกว่าห้ามไม่ให้ทำทั้ง ๆ ที่อาจจะมีคนสนใจอยู่ โดยหลักการคือ เป็นการระดมเงินภาคเอกชนมา แล้วหาคนที่เข้าใจความเสี่ยง รู้ว่ามีความเสี่ยง มีสิทธิ ที่เงินลงทุนจะกลายเป็นศูนย์ หรืออาจจะได้ดอกเบี้ยสูง ซึ่งหากใครรับความเสี่ยงตรงนี้ได้ก็นำเงินมาลง ก็อาจจะเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้กลไกตลาดยังทำงานได้อยู่ ก็จะเป็นภาระของภาครัฐน้อยลงด้วย แทนที่จะต้องใช้เงินรัฐไปอุ้มไฮยีลด์บอนด์ ก็หาวิธีอำนวยความสะดวกให้เอกชนนำเงินมาอุ้มไฮยีลด์บอนด์ที่ราคาที่ถูกต้อง ก็จะเป็นภาระกับทุกคนน้อยลง เพราะความเสี่ยงจะกระจายตัวมากขึ้น” นายพิพัฒน์กล่าว

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ปัจจุบันทางการกำลังหารือกันถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนหุ้นกู้เสี่ยงสูง เพื่อให้บุคคลธรรมดาสามารถลงทุนในหุ้นกู้เสี่ยงสูงได้ตามรูปแบบของต่างประเทศ โดยจะกำหนดกลไกให้นักลงทุนรายย่อยต้องมีการลงทุนในหุ้นกู้เสี่ยงสูงแบบกลุ่มก้อน หรือกองทุนต้องมีการลงทุนหุ้นกู้เสี่ยงสูงเกิน 50 ตัวขึ้นไป เพื่อให้สามารถกระจายความเสี่ยงได้ รวมถึงมีการจัดทำความน่าจะเป็นของความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้ต้องไม่เกิน 2% ขณะหุ้นกู้เสี่ยงสูงในกองทุนทุกตัวจะต้องให้ผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 2% ต่อปี

“การกระจายความเสี่ยงแบบนี้ ตามสถิติผู้ลงทุนจะได้ผลตอบแทนที่ชนะตลาด และทำให้นักลงทุนรายย่อยสามารถลงทุนได้ ใช้เงินไม่มาก แต่สามารถกระจายความเสี่ยงได้ ในเมืองนอกเรียกว่ากองทุนไฮยีลด์บอนด์ (high yield bond fund) เราก็มีความคิดว่าปัจจุบันนี้จะต้องมีกองทุนไฮยีลด์บอนด์ หรืออาจจะไม่เป็นกองทุนอาจจะเป็นทรัสต์ หรือนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) และมีการบริหารจัดการด้วยมืออาชีพ” นายธาดากล่าว

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมีการหารือถึงตลาดสินทรัพย์ที่มูลค่าต่ำผิดปกติ (distressed assets market) ในกรณีที่มีการผิดนัดชำระหนี้ เพื่อให้มีผู้เข้ามารับซื้อหนี้เสียออกไปด้วย ดังนั้น การลงทุนในกองทุนดังกล่าวจึงมีความเหมาะสมกับนักลงทุนรายย่อยในแง่ที่ช่วยกระจายความเสี่ยง โดยไม่ต้องใช้เงินจำนวนมาก

ส่วนภาวะตลาดตราสารหนี้ในปัจจุบัน นายธาดากล่าวว่า หลังจากต้นปีที่ผ่านมาเกิดความผันผวนในตลาดตราสารหนี้ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มดีขึ้นแล้ว โดยหลายบริษัทที่มีอันดับเครดิตดีเริ่มหันมาออกหุ้นกู้ เพื่อตุนกระแสเงินสดไว้เพื่อลงทุนในกิจการใหม่ ๆ โดยเฉพาะหุ้นกู้ที่มีเรตติ้งสูงกว่า A- ขึ้นไป ยังมีความต้องการอยู่ ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2563 จะมียอดการออกหุ้นกู้ราว 8-9 แสนล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2562

“ส่วนหุ้นกู้ที่มีเรตติ้ง A- ลงมา ช่วงเดือน เม.ย.ที่ตลาดตราสารหนี้มีความผันผวน ต้องยอมรับว่าดีมานด์หายไปค่อนข้างมาก แต่ในเดือน พ.ค.ดีมานด์เริ่มกลับมาดีขึ้น และพอเข้าเดือน มิ.ย.ดูเหมือนว่าเริ่มกลับมาปกติ อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 กว่าวันที่ผ่านมาจำนวนผู้ออกยังมีไม่มาก ดังนั้น จึงยังเห็นเทรนด์ไม่ค่อยชัดเจน” นายธาดากล่าว