ค่าเงินบาททรงตัว ตลาดติดตามตัวเลขการค้า และผลประชุม กนง.พรุ่งนี้

ธนบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 23 มิถุนายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/6) ที่ระดับ 30.96 /98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (22/6) ที่ระดับ 31.02/03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนายปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาด้านการค้าประจำทำเนียบขาว ได้ออกแถลงการณ์เพื่อชี้แจงว่า ข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังไม่ยุติ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เขาได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวฟ็อกซ์ นิวส์ ว่าข้อตกลงดังกล่าวได้ยุติลงแล้ว เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรองของสหรัฐมีข้อมูลที่ทำให้เชื่อมั่นมากขึ้นว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีต้นตอมาจากห้องทดลองในเมืองอู่ฮั่นของจีน

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีการเปิดเผย สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่ายอดขายบ้านมือสองลดลง 9.7% สู่ระดับ 3.91 ล้านยูนิตในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงเดือนที่สามติดต่อกัน อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดขอไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโก เปิดเผยว่า ดัชนี Chicao Fed National Activity Index (CFNAI) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ +2.61 ในเดือน พ.ค. จากระดับ -17.89 ในเดือน เม.ย. ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาขยายตัว

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.95-31.04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.95/97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยภาพรวมสถานการณ์ราคาและปริมาณสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประจำวันที่ 11-17 มิ.ย. 63 ปรับตัวดีขึ้นอีกครั้งหลังมีมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 3 และระยะที่ 4

ประกอบกับประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่ฟื้นตัวจากไวรัสโควิด-19 ดีที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากออสเตรเลีย ประชาชนส่วนใหญ่จึงคลายความกังวล และหากมีการผ่อนปรนเพิ่มเติมคาดว่าจะช่วยฟื้นฟูให้เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวเร็วขึ้นต่อไป

โดยภาคการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ผู้ประกอบการส่วนใหญ่สามารถผลิตสินค้าได้อย่างเพียงพอและต่อเนื่อง แต่ยังมีปัญหาและอุปสรรคเดิมที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา อาทิ ขาดสภาพคล่องจากคำสั่งซื้อที่ลดลง ต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบและการขนส่งที่ติดขัด/ล่าช้า ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ตลาดยังติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพรุ่งนี้ (24/6) โดยมีการคาดการณ์ว่าคณะกรรมการฯจะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50%

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (23/6) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1266/69 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (22/6) ที่ระดับ 1.1220/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรได้รับแรงหนุนจากตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและบริการขั้นต้นจากมาร์กิตในเดือน มิ.ย.ของประเทศเยอรมนี, ฝรั่งเศส และยูโรโซน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าและสูงกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1231-1.1306 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1289/91 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (23/6) เปิดตลาดที่ระดับ 106.93/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (22/6) ที่ระดับ 106.91/94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนและทองคำยังคงมีแรงเข้าซื้อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยหลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นทั่วโลก

นอกจากนี้ผลสำรวจพบว่ากิจกรรมในภาคการผลิตของญี่ปุ่นยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 37.8 ในเดือน มิ.ย.ปรับตัวลงจากข้อมูลขั้นปลายที่ 38.4 ในเดือน พ.ค.ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กำลังส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ผลิต แม้ความเชื่อมั่นในภาคบริการเพิ่มขึ้นก็ตาม ส่วนดัชนี PMI คอมโพสิตสำหรับทั้งภาคการผลิตและภาคบริการอยู่ที่ระดับ 37.9 ในเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้นจากข้อมูลขั้นปลายที่ 27.8 ในเดือน พ.ค.

ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 106.72-107.21 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.05/07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือน มิ.ยจากมาร์กิต (2386) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือน มิ.ย.จากมาร์กิต (23/6) ดัชนีภาคการผลิตเดือน มิ.ย.จากเฟดริชมอนด์ (23/6) ดัชนีราคาบ้านเดือน เม.ย. (24/6) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (25/6) ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2563 (25/6) ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน พ.ค. (25/6) ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน พ.ค. (26/6) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (26/6)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.4/-0.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.8/+0.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ