หุ้นแบงก์ถูกเท! เงินไหลออกต่อเนื่อง-เสี่ยงถูกลดเป้ากำไร

AFP PHOTO/Joan Manuel BALIELLAS

โบรกฯคาดเงินไหลออกจากหุ้นแบงก์ต่อเนื่อง ชอตต่อไปมีความเสี่ยงถูกปรับลดเป้ากำไรปี’63 หลังเพิ่งเจอปัจจัยลบธปท. ห้ามจ่ายปันผล-งดซื้อหุ้นคืน “บล.เมย์แบงก์ฯ” เผยกองทุนหุ้นปันผลแห่ปรับพอร์ตขายหุ้นแบงก์ทิ้งหันซบหุ้น “พลังงาน-อาหาร-ค้าปลีก” ที่จ่ายปันผลสูงใกล้เคียงแทน ฟาก “บล.เอเซีย พลัส” แนะซื้อหุ้นรับอานิสงส์กองทุนปรับพอร์ต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีหนังสือเวียนแจ้งธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลปี 2563 และงดซื้อหุ้นคืน ปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ทำให้ราคาหุ้นในกลุ่มปรับลดลงยกแผง เฉลี่ย 5.6% ในวันทำการแรก (22 มิ.ย.) โดยธนาคารกรุงเทพ (BBL) ราคาหุ้นปรับลง 9.09% ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ลดลง 7.44% และธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ลดลง 6.79%

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) กล่าวว่า จากประกาศ ธปท.ดังกล่าว ถือเป็นปัจจัยลบต่อหุ้นธนาคารโดยตรง โดยนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน โดยเฉพาะกองทุนหุ้นปันผล (high yield fund) จำเป็นต้องปรับน้ำหนักการลงทุนทันที เพื่อย้ายเงินไปลงทุนในหุ้นที่ยังให้ปันผลสูง ใกล้เคียงกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์

“กองทุน high yield ต้องสับเปลี่ยน (switch) ไปลงในที่ที่ให้ผลตอบแทนพอ ๆ กับกลุ่มธนาคาร โดยเฉพาะหุ้น BBL ที่ทั้งรายย่อยและสถาบันถือหุ้นหวังรอรับปันผลสูงสุด ส่วนฝั่งกองทุนปกติก็ต้อง switch ไปยังหุ้นที่รองรับความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง” นายวิจิตรกล่าว

ทั้งนี้ หากพิจารณาเม็ดเงินลงทุน ณ สิ้นวันที่ 22 มิ.ย. 2563 พบว่า หุ้นที่มีการซื้อสุทธิจากนักลงทุนสถาบันมากสุด กระจายอยู่ในกลุ่มพลังงงาน อาหาร และค้าปลีก ได้แก่ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) บมจ.โอสถสภา(OSP) บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG) บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) และ บมจ.คอมเซเว่น (COM7)

ขณะที่ในระยะถัดไปประเมินว่า เม็ดเงินลงทุนมีโอกาสไหลออกจากกลุ่มธนาคารต่อเนื่อง จากความเสี่ยงถูกปรับลดประมาณการกำไรปี 2563 ลง เนื่องจากแนวโน้มรายได้ดอกเบี้ย (NIM) ที่หดตัวลง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงคุณภาพสินทรัพย์ที่อาจสูงขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ซึ่งนักวิเคราะห์เริ่มพิจารณาปรับตั้งแต่สัปดาห์นี้ เป็นต้นไป

“ปกติเวลาที่ราคาหุ้นกระแทกลงจากข่าวลบ จะใช้เวลา 2-3 วันในการรับปัจจัยลบนั้น ๆ แต่กลุ่มแบงก์นอกเหนือจากข่าวลบแล้ว ในปีนี้ยังค่อนข้างเหนื่อยจากภาวะเศรษฐกิจและคุณภาพหนี้ แม้ช่วงสั้นราคาหุ้นจะดีดกลับมาบวกได้บ้าง แต่เชื่อว่าพอขึ้นมา กองทุนที่ยังปรับพอร์ตไม่เสร็จก็มีโอกาสขาย ให้ราคาปรับลงไปอีกอยู่ดี โดยหุ้นแบงก์แต่ละตัวเหลือแนวรับเฉลี่ยอีกประมาณ 3-4 บาท” นายวิจิตรกล่าว

นายชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า จากราคาหุ้นแบงก์ที่ปรับลดลง คาดว่าจะเกิดการสับเปลี่ยนเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่มอื่น (sector rotation) โดยเชื่อว่าเม็ดเงินลงทุนจะไหลไปยังหุ้นที่ให้ปันผลสูง กระแสเงินดี และภาพรวมอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจและไวรัสโควิด-19 จำกัด ได้แก่ กลุ่มสื่อสาร บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) ปันผล 3.9% และ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ปันผล 3.4% รวมถึงกลุ่มโรงไฟฟ้า บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) ปันผล 3.7%


นางสาวธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย กล่าวว่า กองทุนหุ้นของบริษัท รวมถึงกองทุนหุ้นปันผลให้น้ำหนักลงทุนหุ้นกลุ่มแบงก์ “น้อยกว่าตลาด” (underweight) อยู่แล้ว ประกอบกับการจ่ายปันผลระหว่างกาลของกลุ่มแบงก์ คิดเป็น 20-30% ของเงินปันผลทั้งปี ดังนั้นในส่วนของกองทุนหุ้นปันผลจึงได้รับผลกระทบไม่มากนัก