ตลาดกังวลโควิดระบาดรอบสอง, IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลก

(FILES) (Photo by STR / AFP) / China OUT

ตลาดกังวลโควิดระบาดรอบสอง, IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกทั้งในปีนี้และปีหน้า

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/6) ที่ระดับ 30.86/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (24/6) ที่ระดับ 30.83/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปรับตัวลงท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ โดยรายงานระบุว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในรัฐฟลอริดาเพิ่มขึ้น 5,508 ราย ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่อัตราการติดเชื้อในรัฐเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 15.91% จากเดิมที่ 10.82%

นอกจากนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลก พร้อมกับเตือนว่าสถานะทางการคลังของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ จะทรุดตัวลงอย่างหนัก จากผลกระทบที่รัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดย IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวลง 4.9% ในปีนี้ ซึ่งย่ำแย่กว่าที่คาดการณ์ในเดือน เม.ย.ว่าจะหดตัวลง 3% และ IMF ยังได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าสู่ระดับ 5.4% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ในเดือน เม.ย.ว่าจะขยายตัว 5.8%

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.84-30.92 บาท/ดอลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.89/90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 63 ลงเหลือ -8.1% จากเดิมคาด -5.3% โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

อย่างไรก็ดีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีสัญญาณปรับดีขึ้น หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด พร้อมกันนี้ได้ปรับลดคาดการณ์การส่งออกไทยในปีนี้ลงเหลือ -10.3% จากเดิมคาด -8.8% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ คาดว่าจะหดตัวอยู่ที่ -1.7% จากเดิมคาด -1.0% โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 64

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (25/6) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1256/58 ดอลลาร์สหรั/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (24/6) ที่ระดับ 1.1284/85 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดย Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 86.2 ในเดือน มิ.ย. จากระดับ 79.7 ในเดือน พ.ค. ขณะที่ภาคธุรกิจของเยอรมนีมีความเชื่อมั่นมากขึ้น หลังจากที่ดัชนีปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดในเดือน เม.ย. โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

นอกจากนี้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เปิดเผยว่าสหรัฐกำลังพิจารณาเรียกเก็บภาษีนำเข้ามูลค่า 3.1 พันล้านดอลลาร์จากสินค้าหลายประเภทของประเทศยุโรป โดยเป็นผลจากความขัดแย้งเรื่องเครื่องบินกับประเทศคู่ค้า ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1222-1.1260 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1228/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (25/6) เปิดตลาดที่ระดับ 107.08/09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (24/6) ที่ระดับ 106.52/55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยดัชนีนิกเคอิตลาดหุ้นโตเกียวปรับตัวลงในวันนี้ หลังนักลงทุนกังวลเศรษฐกิจโลกอาจฟื้นตัวได้อย่างช้า ๆ ท่ามกลางยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐและประเทศอื่น ๆ

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยในวันนี้ว่า ภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นถือครองสินทรัพย์ด้านการเงินที่ระดับ 1,845 ล้านล้านเยน (17.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในเดือน มี.ค. ลดลง 0.5% เมื่อเทียบรายปี ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 106.97-107.25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.26/29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (25/6) ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2563 (25/6) ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน พ.ค. (25/6) ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน พ.ค. (26/6) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (26/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.3/-0.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.5/0.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ