โควิดกระทบ PPP ดีเลย์กว่า 10 โครงการ “สมคิด” สั่ง สคร.เร่งติดตาม

“สมคิด” สั่ง สคร.เร่งติดตามโครงการ PPP ชะลอการดำเนินการ แนะดึงโครงการด้านสาธารณสุข-สังคม จูงใจเอกชนร่วมลงทุนด้วย ด้าน สคร.ชี้โควิดกระทบ 10 โครงการสำคัญดีเลย์ มูลค่าหลายแสนล้าน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ครั้งที่ 2/2563 ว่า ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด ส่งผลให้โครงการสำคัญหลายโครงการชะลอการดำเนินการ จึงได้สั่งให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ติดตามสาเหตุของโครงการที่มีการชะลอการดำเนินการ พร้อมกันนี้ ยังต้องการสนับสนุนโครงการร่วมลงทุนมากกว่าโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะต้องมีทั้งโครงการเชิงสังคม และโครงการด้านภาคบริการทางด้านการแพทย์ จึงได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปพิจารณาแนวทางจูงใจให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน ทั้งโครงการที่อยู่อาศัย โลจิสติกส์ ท่องเที่ยว และการเกษตร

 

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เนื่องจากในสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งที่จะช่วยประคองเศรษฐกิจจะต้องอาศัยการลงทุน และการบริโภคภายในประเทศ ฉะนั้น จะให้ สคร.เข้าไปหารือร่วมกับหน่วยงานเจ้าของโครงการ ถึงปัญหาโครงการที่มีการชะลอการดำเนินการ ในฐานะที่ทำหน้าที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ แล้วนำมารายงานในที่ประชุมครั้งต่อไป และเชิญหัวหน้าในโครงการใหญ่ๆ มาหารือร่วมกันในเรื่องที่ชะลอการดำเนินการด้วย เพื่อหาแนวทางในการเร่งดำเนินการต่อไป

ด้าน นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า ภายใต้แผนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน ระหว่างปี พ.ศ. 2563 – 2570 มีทั้งสิ้นกว่า 90 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1.09 ล้านล้านบาท โดยในจำนวนดังกล่าว มีโครงการที่สำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนอยู่ 18 โครงการ มูลค่ารวมทั้งสิ้น 4.72 แสนล้านบาท ซึ่งมีทั้งโครงการสาธารณะและเชิงสังคม โดยในส่วนนี้ จำนวน 10 โครงการ คิดเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาท เป็นโครงการที่มีการชะลอการดำเนินการ หลังจากที่ไวรัสวิด-19 แพร่ระบาด ซึ่งบางโครงการอยู่ระหว่างคัดเลือกเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน หรือบางโครงการอยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการ PPP

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้กำชับ สำหรับโครงการ PPP จะต้องวางระบบที่จะดูแลในเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด หากโครงการของหน่วยงานนั้นๆ ไม่เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ จะมีการเรียกหน่วยงานเจ้าของโครงการเข้าร่วมการประชุมกับคณะกรรมการฯ ในครั้งถัดไป และนอกจากนั้น ยังได้สั่งการไปถึงการให้รัฐวิสาหกิจเร่งเบิกจ่ายงบการลงทุนให้เร็วที่สุด

“ตัวอย่างโครงการที่มีการดำเนินการล่าช้าใน 18 โครงการสำคัญ เช่น โครงการระหว่างเมือง ของกรมทางหลวง ซึ่งขณะนี้ขั้นตอนอยู่ระหว่างการเตรียมเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว แต่ยังล่าช้ากว่าแผนนิดหน่อย เนื่องจากมีบางขั้นตอนติดขัดจากสถานการณ์โควิด อย่างโครงการรถไฟสายสีเหลือง ก็เกิดกระบวนการล่าช้า รวมทั้งโครงการเชิงสังคม เช่น โครงการของกรมการแพทย์ มูลค่ากว่า 8.5 พันล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการหาเอกชนเข้ามาลงทุนในการก่อสร้างโรงพยาบาล รายละเอียดของโครงการยังไม่ครบถ้วน จึงให้หน่วยงานดังกล่าวกลับไปแก้ไขเพิ่มเติม และยังมีโครงการซีเนียร์คอมเพล็กซ์ มูลค่า 3.4 พันล้านบาท โดยจะให้กรมกิจการผู้สูงอายุเข้ามาร่วมดำเนินการต่อไป” นายชาญวิทย์กล่าว

ทั้งนี้ นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ยังได้เห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองภายใต้ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ในเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการโครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าต่ำกว่าที่กำหนดในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 (สำหรับโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท) ซึ่งจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกฎหมายลำดับรองที่ใช้สำหรับการเสนอโครงการครบถ้วน และเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน