ดอลลาร์สหรัฐทรงตัว จับตารายงานการประชุม FOMC วันพุธนี้

เงินดอลลาร์สหรัฐ
REUTERS/Marcos Brindicci/File Photo

ดอลลาร์สหรัฐทรงตัว จับตาคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เปิดเผยรายงานการประชุมวันพุธนี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 30 มิถุนายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/6) ที่ระดับ 30.88/89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (29/6) ที่ระดับ 30.90/92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) พุ่งขึ้น 44.3% ในเดือน พ.ค.เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ NAR เริ่มทำการเก็บรวบรวมข้อมูลในเดือน ม.ค. 2544 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 15% หลังจากดิ่งลง 22% ในเดือน เม.ย. โดยได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การทะยานขึ้นของดัชนีในเดือน พ.ค. ได้รับแรงหนุนจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองที่อยู่ในระดับต่ำ

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์เตือนว่า การแพร่ระบาดรอบสองของไวรัสโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มของดัชนี เมื่อเทียบรายปี ดัชนีปรับตัวลง 5.1% ในเดือน พ.ค. หลังจากร่วงลง 33.8% ในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นการทรุดตัวลงมากเป็นประวัติการณ์

นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัส เปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตรัฐเท็กซัสพุ่งขึ้นสู่ระดับ 13.6 ในเดือน มิ.ย. จากระดับ -28.0 ในเดือน พ.ค. ดัชนีภาคการผลิตปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ในเดือน มิ.ย. หลังจากทรุดตัวลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือน เม.ย. โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดัชนีมีค่าเป็นบวกในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน และบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคการผลิตในเท็กซัส ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.87-31.90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.89/31.91 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (30/6) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1241/43 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (29/6) ที่ระดับ 1.1271/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ภายหลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาค่อนข้างดี ส่งผลให้นักลงทุนลดการถือครองสกุลเงินยูโร และเพิ่มการถือครอสกุลเงินดอลลาร์มากขึ้น

ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1204-1.1252 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1210/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (30/6) เปิดตลาดที่ระดับ 107.73/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (29/6) ที่ระดับ 107.21/23 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า อัตราว่างงานของญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือน พ.ค. เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้บริษัทหลายแห่งปลดพนักงาน หลังจากธุรกิจหยุดชะงัก โดยกระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารของญี่ปุ่น รายงานว่าอัตราว่างงานเดือน พ.ค. อยู่ที่ระดับ 2.9% เพิ่มขึ้นจากระดับ 2.6% ในเดือน เม.ย. ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.54-107.79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.70/72 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ราคาบ้านเดือน เม.ย.จากเอสแอนด์พี/แคส-ชิลเลอร์ (30/6), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เขตชิคาโก เดือน มิ.ย. (30/6), ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย. จาก Conference Board (30/6) ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือน มิ.ย. จาก ADP (1/7) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือน มิ.ย. จากมาร์กิต (1/7), ดัชนีภาคการผลิตเดือน มิ.ย. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) (1/7), คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เปิดเผยรายงานการประชุมวันที่ 9-10 มิ.ย. (1/7), ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน มิ.ย. (2/7), อัตราว่างงานเดือน มิ.ย. (2/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.1/+0.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.2/-0.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ