กกร. ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทย ตลาดติดตามตัวเลขสำคัญของสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 1 กรกฎาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/7) ที่ระดับ 30.91/93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ  ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (30/6) ที่ระดับ 30.89/90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้แถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ โดยกล่าวว่าการเปิดเศรษฐกิจที่รวดเร็วเกินคาดของสหรัฐนั้น ทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศเผชิญกับความท้าทายแบบใหม่ โดยจะเห็นได้จากหลักฐานตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐเผชิญกับความไม่แน่นอนอย่างมาก และจะขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการควบคุมไวรัสชนิดนี้

ส่วนการฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์จะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อความปลอดภัยในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ และแนวโน้มในอนาคตจะขึ้นอยู่กับการดำเนินมาตรการของรัฐบาลในทุกระดับเพื่อให้การเยียวยาและสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีการเปิดเผยผลสำรวจของ conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษกิจระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 98.1 ในเดือน มิ.ย. จากระดับ 85.9 ในเดือน พ.ค. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 91.0 โดยได้รับแรงหนุนจากการที่รัฐต่าง ๆ ในสหรัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์  ทำให้เริ่มมีการเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.89-30.99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.95/96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นางเบอร์กิท ฮานสส์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่า รายงานเศรษฐกิจไทยคาดว่า จีดีพีไทยปีนี้จะติดลบกว่า 5% จากเดิมที่เคยคาดติดลบ 3% และน่าจะใช้เวลามากกว่า 2 ปีที่กลับไปสู่จีดีพีระดับก่อนที่ประสบปัญหาโควิด-19 เนื่องจากผลกระทบของการระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ มีคนตกงานกระจายไปทั่ว และกระทบต่อครัวเรือนชนชั้นกลาง และครัวเรือนที่ยากจนก่อนเศรษกิจไทยจะฟื้นขยายตัวที่ 4.1% ในปี 64 และ 3.6% ในปี 65 แต่ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน เช่น การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอ การท่องเที่ยวที่เปราะบาง รวมถึงการค้าและห่วงโซ่อุปทานที่ยังคงอยู่ในภาวะชะงักงัน

นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.) ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 63 ลงมาเป็น -8.0 ถึง -5.0% จากเดิม -5.0 ถึง -3.0% แม้ในเดือน พ.ค. และมิ.ย. ภาครัฐจะทยอยคลายล็อกให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเปิดดำเนินการ แต่เครื่องชี้เศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะหดตัว จากกำลังซื้อที่อ่อนแอของครัวเรือนและภาคธุรกิจ ส่งผลต่อบรรยากาศการใช้จ่ายภายในประเทศ ขณะเดียวกันการส่งออกและการท่องเที่ยวยังอยู่ภายใต้แรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยและสถาการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศที่ยังไม่ยุติ จึงได้ปรับลดกรอบประมาณการการส่งออกปีนี้มาเป็น -10.0 ถึง -7.0% จากเดิม -10.0 ถึง 5.0% และปรับลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมาที่ -1.5 ถึง 1.0% จากเดิม  -1.5 ถึง 0.0%

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (1/7) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1231/34 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (30/6) ที่ระดับ 1.1201/02 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรได้รับแรงหนุนจากตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือน มิ.ย.ของประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี และสหภาพยุโรป (EU) ที่ฟื้นตัวจากเดือนก่อนหน้า แม้ดัชนี PMI ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของยูโรโซนยังคงอยู่ในภาวะหดตัว แต่ตัวเลขที่ปรับตัวขึ้นถือเป็นสัญญาณบวก เนื่องจากสะท้อนถึงการหดตัวในอัตราที่ลดน้อยลง โดยได้ปัจจัยหนุนจากการที่รัฐบาลในหลายประเทศของยูโรโซนผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และการบริโภคที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1214-1.1244 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1231/33 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (1/7) เปิดตลาดที่ระดับ 108.11/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (30/6) ที่ระดับ 107.73/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนอ่อนค่าหลังจากค่าเงินดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และนายสตีเว่น มนูชิน รมว.คลังสหรัฐ กล่าวต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ โดยทั้งสองให้คำมั่นว่าจะร่วมมือกันพยุงเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19

นอกจากนี้ค่าเงินเยนยังได้รับแรงกดดันจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวลงแตะจุดต่ำสุดรอบ 11 ปี โดยดัชนีความเชื่อมั่นของบริษัทผู้ผลิตขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นปรับตัวลงจาก -8 ในเดือน มี.ค. สู่ -34 ในเดือน มิ.ย. และอัตราว่างงานเดือน พ.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 2.9% เพิ่มขึ้นจากระดับ 2.6% ในเดือน เม.ย. 63 โดยอัตราว่างงานของญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือน พ.ค. เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้บริษัทหลายแห่งปลดพนักงานหลังจากธุรกิจหยุดชะงัก ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.45-108.16 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.51/53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือน มิ.ย. จาก ADP (1/7) ดัชีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตชั้นสุดท้ายเดือน มิ.ย. จากมาร์กิต (1/7) ดัชนีการผลิตเดือน มิ.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) (1/7) การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเดือน พ.ค. (1/7) รายงานการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) (2/7) ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน มิ.ย. (2/7) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (2/7) อัตราว่างงานเดือน มิ.ย. (2/7) ดุลการค้าเดือน พ.ค. (2/7) ดัชนีภาวะธุรกิจนิวยอร์กเดือน มิ.ย. จากสถาบันจัดการด้นอุปทานของสหรัฐ (ISM) (2/7) ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน พ.ค. (2/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.15/+0.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.6/-1.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ