เร่งตั้งศูนย์ดูแลผู้ถือหุ้นกู้ “การบินไทย” หวั่นรายย่อยเคว้ง

ผู้เกี่ยวข้องเร่งตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ถือหุ้นกู้ “บินไทย” หวั่น “รายย่อย” เคว้งไม่มีสถาบันการเงิน “ผู้แทน” ดูแลหลังศาลรับคำร้องฟื้นฟูกิจการแล้ว “สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย” เผยหุ้นกู้ “THAI” กว่า 4.4 หมื่นล้านบาท ไร้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เหตุออกก่อนเกณฑ์ ก.ล.ต.บังคับ ฟากคลังจ่อตัดทิ้งแผนบริหารหนี้การบินไทยกว่า 5 หมื่นล้านบาท เร็ว ๆ นี้ หลังพ้นสถานะรัฐวิสาหกิจ

แหล่งข่าวจากวงการตลาดตราสารหนี้เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดตั้งศูนย์ประสานงาน one stop service เพื่อดูแลผู้ถือหุ้นกู้ บมจ.การบินไทย (THAI) ทั้งหมด มูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาท หลังจากศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไปเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2563 และนัดไต่สวนในวันที่ 17 ส.ค. 2563

ทั้งนี้ หุ้นกู้ของ บมจ.การบินไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในมือผู้ถือหุ้นกู้รายย่อย และสหกรณ์ออมทรัพย์อีกกว่า 80 แห่ง โดยหุ้นกู้รุ่นเก่า ๆ ที่ออกก่อนเดือน เม.ย. 2561 จะไม่มีสถาบันการเงินที่ทำหน้าที่เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ (bond holder representative) เพราะเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มากำหนดให้ต้องมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เมื่อราว 2 ปีก่อน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องจัดตั้งศูนย์ประสานงาน one stop service ขึ้นมาดูแล

“ศูนย์ประสานงาน one stop service จะทำหน้าที่ให้ข้อมูลต่าง ๆ แก่ผู้ถือหุ้นกู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง รวมถึงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการโหวตแผนฟื้นฟูกิจการด้วย เนื่องจากหุ้นกู้รุ่นเก่า ๆ ที่ออกก่อนเดือน เม.ย. 2561 มักจะไม่มีสถาบันการเงินที่ทำหน้าที่เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ดังนั้น หากไม่มีศูนย์ประสานงานขึ้นมาผู้ถือหุ้นกู้กลุ่มนี้ก็จะเคว้งไม่รู้จะไปพึ่งใคร” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า เบื้องต้นฝ่ายกฎหมายของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และธนาคารกรุงเทพ (BBL) น่าจะเป็นผู้ดูแลศูนย์ประสานงาน one stop service ดังกล่าว

อริยา ติรณะประกิจ

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หุ้นกู้ บมจ.การบินไทย วงเงินรวมกว่า 7 หมื่นล้านบาทไม่ได้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ทุกรุ่น โดยหุ้นกู้รุ่นที่มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ส่วนใหญ่จะเป็นธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของผู้ลงทุนในการเรียกร้องสิทธิประโยชน์ แต่เท่าที่ตรวจสอบพบว่าหุ้นกู้รุ่นที่ไม่มีผู้แทนมีมูลค่าถึง 44,320 ล้านบาท ส่วนรุ่นที่มีผู้แทนมีเพียง 24,288 ล้านบาท

“ยังไม่แน่ใจว่าจะตั้งใครเป็นตัวแทนในการติดต่อ โดยจากที่มีการหารือกันล่าสุด รุ่นที่ไม่มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ให้กลับไปติดต่อผู้จัดการการจำหน่ายหุ้นกู้ (underwriter) เพื่อให้เป็นเซ็นเตอร์ให้ก่อน เวลามีปัญหาอะไรจะได้ให้ข้อมูลได้ โดยเฉพาะกับนักลงทุนรายย่อยที่เป็นบุคคล เพราะนักลงทุนสถาบัน อาทิ สหกรณ์, บริษัทประกันภัย, บริษัทนิติบุคคล อาจจะไม่ลำบากมากนัก จึงเป็นที่มาว่าควรจะมีศูนย์ประสานงาน one stop service ที่จะต้องตามข้อมูลเพื่อรวบรวมเอกสาร ยอดมูลหนี้ต่าง ๆ เพื่อไปยื่นแสดงเป็นเจ้าหนี้ให้เสร็จก่อนวันที่ 17 ส.ค. 2563 ไม่เช่นนั้นอาจจะหลุดไปเลย” นางสาวอริยากล่าว

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจาก บมจ.การบินไทยได้ลดสถานะจากเดิมที่เป็นรัฐวิสาหกิจ เหลือเพียงสถานะบริษัทมหาชน และมีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มลายไปแล้วนั้น กระทรวงการคลังจะต้องปรับแผนบริหารหนี้ใหม่ โดยตัดแผนในส่วนของ บมจ.การบินไทยออกไป ซึ่งเดิมในปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 2562-ก.ย. 2563) นี้ บริษัทได้กำหนดแผนกู้เงินทั้งสิ้น 56,800 ล้านบาท แบ่งเป็นกู้เงินเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไปวงเงิน 32,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องในรูป credit line วงเงิน 24,800 ล้านบาท

“จะต้องประชุมคณะกรรมการนโยบายหนี้สาธารณะที่ รมว.คลังเป็นประธานเพื่ออนุมัติตัดแผนการกู้เงินของการบินไทยออกจากแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2563 นี้ เนื่องจากการบินไทยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า กระทรวงการคลังนอกจากเป็นผู้ถือหุ้นแล้วยังมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ บมจ.การบินไทยด้วย เนื่องจากเคยมีการให้กู้ต่อแก่บริษัทตั้งแต่ในอดีต ซึ่งมีวงเงินคงค้างอยู่ราว 13,000 ล้านบาท