สินเชื่อบ้าน ธอส. New Normal ภารกิจท้าทาย ฉัตรชัย ศิริไล

"ฉัตรชัย ศิริไล" กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)

“ผมว่าเมื่อ 4 ปีก่อนเทคโนโลยีดิสรัปชั่นเป็นตัวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ 4 ปีหลังจากนี้คือโคโรน่าไวรัสเป็นตัวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”

เป็นคำกล่าวของ “ฉัตรชัย ศิริไล” กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่เพิ่งผ่านกระบวนการสรรหา ได้คัมแบ็กกลับมานั่งเก้าอี้แบงก์เพื่อที่อยู่อาศัยแห่งนี้ต่ออีกสมัยเป็นวาระที่ 2 เริ่มงานเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์ถึงการดำเนินงานช่วง 4 ปีที่ผ่านมา และมองไปในอนาคตช่วง 4 ปีข้างหน้า ท่ามกลางปัจจัยลบผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผลักดันให้ทุกภาคส่วนในสังคมต้องปรับตัวสู่วิถีใหม่ (new normal)

“โควิด” ดันสินเชื่อปล่อยใหม่พุ่ง 5%

“ฉัตรชัย” กล่าวว่า การทำงานช่วง 4 ปีแรกที่ผ่านมา ถือว่าสามารถผลักดันงานทุกโครงการได้สำเร็จ สำหรับการดำเนินงานในปี 2563 นี้ ท่ามกลางสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ปรากฏว่าการปล่อยสินเชื่อใหม่ทำได้สูงกว่าเป้าหมาย 5% โดยปล่อยสินเชื่อได้แล้วกว่า 9.7 หมื่นล้านบาท เนื่องจากยังมีกลุ่มลูกค้าที่กำลังซื้อไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ประกอบกับช่วงนี้ดอกเบี้ยต่ำ แถมราคาบ้านก็ลดลง เป็นโอกาสของผู้ที่มีกำลังซื้อ

“ตอนนี้บรรยากาศเอื้อให้ทุกอย่างต้องถูกลง เพราะสถานการณ์ปัจจุบันปัญหาไม่ได้เกิดจากกลไกเศรษฐกิจ แต่เกิดจากคนกลัวตาย จึงไม่ใช่กลไกตลาด ซึ่งก็ต้องบอกว่า คนที่ไม่ได้กระทบ ก็ไม่กระทบ อย่างคนที่กู้บ้านราคาเกิน 2-3 ล้านบาทขึ้นไป ซื้อบ้านหลังที่ 2 หลังที่ 3 ซึ่งคาดว่าครึ่งปีแรกนี้จะปล่อยสินเชื่อได้ 1 แสนล้านบาท หรือ 50% ของเป้าหมายทั้งปี 2.1 แสนล้านบาท ตามที่ประมาณการไว้ก่อนเกิดโควิด-19”

โดยการปล่อยสินเชื่อช่วงโควิดที่ผ่านมา พบว่าราคากู้บ้านเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นราว 3 ล้านบาทบวก/ลบ จากก่อนหน้านี้จะอยู่ที่ 2 ล้านบาทบวก/ลบ ซึ่งแนวโน้มหลังจากนี้ขึ้นกับว่าคนซื้อบ้านต่ำกว่า 2 ล้านบาทจะฟื้นตัวได้เร็วแค่ไหน ซึ่งการที่สินเชื่อยังเติบโตได้ดีในสถานการณ์โควิด-19 นั้น เนื่องจากลูกค้ากลุ่มที่เข้ามาที่ ธอส.ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่แบงก์พาณิชย์ไม่ปล่อยกู้ เช่น กลุ่มนักบิน ที่เปรียบเหมือน “หงส์กลายเป็นกา” ซึ่งแบงก์พาณิชย์เข้มงวดปล่อยกู้มากขึ้น แต่ ธอส.ยังพิจารณาตามเกณฑ์ปกติ โดยพิจารณาจากความสามารถการชำระในอนาคตด้วย แม้ที่ผ่านมาลูกค้าอาจจะไม่ค่อยดีนัก แตกต่างจากแบงก์พาณิชย์ที่มักจะมองอดีตของลูกค้าด้วย

“การพิจารณาสินเชื่อของ ธอส.เหมือนหลังพิงฝา เรายืนอีกก้าวเดียวก็จะตกน้ำแล้วคือ ถ้าต่ำกว่านี้ก็คือให้เปล่า หรือไม่ก็ต้องขอเงินรัฐชดเชย แต่ ธอส.ใช้เงินของเราเอง”

จ่อหั่นดอกเบี้ยเงินกู้อีก 0.125%

“ฉัตรชัย” บอกว่า ธอส.เตรียมพร้อมจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ลงอีกราว 0.125% ทันที เพื่อแบ่งเบาภาระผู้กู้ เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งช่วยให้ต้นทุนเงินฝากลดลง ถือว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกับที่ธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยลง 0.4% ก่อนหน้านี้ เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เอ็มดี ธอส.กล่าวอีกว่า อัตราดอกเบี้ยขณะนี้ถือว่าต่ำเป็นประวัติการณ์ ตนไม่เคยเห็นอัตราดอกเบี้ยต่ำขนาดนี้มาก่อน โดยปีนี้ ธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงแล้วถึง 3 ครั้ง และช่วงที่เหลือของปียังมีโอกาสเห็นการปรับลดลงได้อีก 0.25%

“พูดกันตามตรง อัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่น่าจะลงมาต่ำขนาดนี้ และยังลงได้อีก แต่คิดว่าไม่น่าจะถึงขนาดติดลบ ขณะที่อัตราดอกเบี้ย MRR (อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี) ก็จะลงได้อีกถ้า ธปท. ปรับดอกเบี้ยลง”

ส่วนสงครามรีไฟแนนซ์ เอ็มดี ธอส. มองว่า ไม่มีทางเกิดขึ้นเพราะดอกเบี้ยต่ำ แต่สงครามรีไฟแนนซ์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อภาครัฐมีการลดภาษีการจดจำนอง เพราะต้นทุนการโอนข้ามแบงก์จะลดลงเหลือ 0.01% จากปกติ 3%

เล็งปรับกระบวนการทำงานยกแผง

ขณะที่ภาพการบริหารงานในอีก 4 ปีข้างหน้านั้น “ฉัตรชัย” กล่าวว่า ธอส.จะต้องนำคำว่า social distancing (การเว้นระยะห่างทางสังคม) มาเปลี่ยนกระบวนการทำงานทุกอย่างกล่าวคือ ต้องทำให้ได้ทุกอย่างโดยที่ไม่ต้องเจอหน้าลูกค้าอย่างเช่น การปล่อยกู้ที่ต้องนำ data มาวิเคราะห์ทำทุกอย่างบนดิจิทัล เป็นต้น โดยอยู่ภายใต้พันธกิจของ ธอส.ในการทำให้คนไทย 40 ล้านคนมีบ้านเป็นของตัวเอง

ซึ่งการออกแบบสินเชื่อบ้านยุค new normal ก็ต้องให้ระยะเวลาผ่อนชำระช่วง 3-5 ปีแรกมีดอกเบี้ยต่ำจนแบงก์แทบไม่มีกำไรเพื่อช่วยลูกค้า จากนั้นค่อยไปเพิ่มในช่วงที่ชาวบ้าน
ฟื้นตัวได้แล้ว

“อย่างตอนนี้การทำตลาดดอกเบี้ย 3 ปีแรก ธอส.อยู่ที่ 1.99% ต่อปี ลดลงมาจากช่วงก่อนโควิดที่ดอกเบี้ย 3 ปีแรกในตลาดเฉลี่ยอยู่ที่ 4% แต่ปัจจุบัน ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบายลงไป 3 ครั้ง จึงทำให้ดอกเบี้ยลดลงมา”

ขณะที่โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับข้าราชการของกรมธนารักษ์ 1 หมื่นยูนิตนั้น ธอส.ก็มีแผนจะเข้าไปสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้กู้รายย่อยทั้งหมด โดยให้กู้เต็ม 100% ราคาบ้าน 2-5 ล้านบาท

ส่วนการบริหารจัดการภายใน “ฉัตรชัย” ยืนยันว่า แบงก์จะไม่มีการปรับลดพนักงาน ไม่ลดสาขาที่มีราว 200 แห่ง แต่จะต้องปรับพนักงานด้านการเงินทั้งหมดไปทำด้านสินเชื่อมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์พันธกิจของธนาคาร

ตั้งรับครบอายุพักหนี้

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องกังวล เป็นโจทย์ยากในช่วงครึ่งปีหลังนี้คือ เมื่อลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย ครบอายุมาตรการแล้วจะดูแลคนเหล่านี้อย่างไร ซึ่งลูกหนี้เหล่านี้มีโอกาสเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันเอ็นพีแอล ธอส.อยู่ที่ 4.69% จากต้นปีที่ 4.09% ซึ่งเป็นไปตามทิศทางตลาด วิธีการหนึ่งอาจต้องขยายเวลาพักชำระหนี้ออกไปอีกจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธอส.มี 8 มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ซึ่งมีลูกหนี้เข้าร่วมทั้งสิ้นวงเงินรวม 4.1 แสนล้านบาท จากพอร์ตสินเชื่อคงค้างราว 1.2 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้มีผู้ที่พักทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยอยู่ราว 2 แสนล้านบาท

“โจทย์ยากคือ หนี้ที่พักชำระไว้จะครบกำหนดต้องกลับมาชำระในเดือน ต.ค. ซึ่งต้องดูว่าเมื่อถอดปลั๊กแล้วเขายังหายใจอยู่ไหม เพราะทุกวันนี้เป็นเครื่องช่วยหายใจ แล้วอีกอย่างคือ ตัวเลข 6 เดือนที่ผ่านมาแบงก์ยังคิดเสมือนคนเหล่านี้เป็นคนปกติ เดินดอกเบี้ยเต็ม ทำให้ยังดูกำไรสูงอยู่ แต่มันมี cash กับ noncash ถามว่าแต่ละแบงก์มีช่องว่างตรงนี้เท่าไหร่ ตั้งสำรองไว้เพียงพอหรือไม่ ซึ่งตอนนี้เรากำลังทำแผนส่งกระทรวงการคลังเพื่อปรับเป้าหมายธุรกิจใหม่” นายฉัตรชัยกล่าว

สิ่งที่ ธอส.เตรียมไว้รับมือคือ “มาตรการประนอมหนี้พิเศษ” ที่จะมารองรับ อาทิ การลดดอกเบี้ย ลดเงินงวด และยืดระยะเวลาชำระให้เป็นพิเศษ เป็นต้น โดยจะสั่งการทุกสาขาเตรียมพร้อมล่วงหน้า 60 วัน ให้รับมือกับปัญหาได้ทันท่วงที

บ้านล้านหลังอนุมัติเดือนละพันล้าน

สำหรับโครงการบ้านล้านหลัง ล่าสุด (ณ 25 มิ.ย. 63) มียอดยื่นกู้กว่า 3 หมื่นราย วงเงินกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท โดยแบงก์อนุมัติสินเชื่อแล้วกว่า 2.8 หมื่นราย เป็นเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยอนุมัติได้เดือนละ 1,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน่าพอใจ โดยคาดว่าในเวลาอีก 1 ปีครึ่งจะเต็มวงเงินก้อนแรก 5 หมื่นล้านบาท

แบงก์รัฐต้องพร้อมรับมือวิกฤต

“ฉัตรชัย” กล่าวด้วยว่า ในภาวะวิกฤตแบงก์รัฐยังขยายสินเชื่อเติบโตได้ เพราะในอดีตถูกออกแบบว่าเมื่อมีวิกฤตแบงก์รัฐต้องออกมาช่วย แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจแข็งแรง แบงก์รัฐก็ต้องทำธุรกิจเชิงพาณิชย์เพื่อสร้างความแข็งแรงด้วย”แบงก์รัฐจะอ่อนปวกเปียกไม่ได้ เพราะเป็นกลไกของรัฐ ดังนั้น ในวันที่คลื่นลมสงบเราควรต้องทำให้แบงก์โตเร็วที่สุด ไม่ใช่หน่อมแน้ม เพราะไม่อย่างนั้นถ้าถึงวันที่เดี้ยงกันหมดเราจะเอาอะไรไปช่วยใครได้” เอ็มดี ธอส.กล่าว