เฟดย้ำตรึงดอกเบี้ยต่ำ จนกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัว ตลาดติดตามตัวเลขสำคัญของสหรัฐ

เงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ-เฟด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/7) ที่ระดับ 31.01/03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (1/7) ที่ระดับ 30.92/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 9-10 มิ.ย. โดยระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า เฟดควรจะมีคำอธิบายที่ชัดเจนมากขึ้นให้กับตลาดการเงิน เกี่ยวกับแนวทางในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อให้ตลาดได้รับทราบข้อมูลมากขึ้นว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เฟดจำเป็นต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับใกล้ 0% หรือต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

และกรรมการเฟดส่วนใหญ่ยังเห็นพ้องต้องกันว่า การซื้อสินทรัพย์จะช่วยให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และยังเป็นเครื่องมือชั้นดีในการรักษาเส้นอัตราผลตอบแทน (yield curve) ให้อยู่ในแนวราบ ส่งผลให้คณะกรรมการเฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% และยืนยันว่าเฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าว จนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และบรรลุเป้าหมายของเฟดในการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งรักษาเสถียรภาพของราคา

ขณะเดียวกันเฟดจะยังคงเพิ่มการถือครองพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) โดยเฟดจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 8 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน และซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ในวงเงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์

นอกจากนี้เฟดคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัวลง 6.5% ในปีนี้ ก่อนที่จะดีดตัวขึ้น 5% ในปี 2564 และเฟดยังส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.00-0.25% จนถึงปี 2565

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีการเปิดเผยออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 2.369 ล้านตำแหน่งในเดือน มิ.ย. ส่วนผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 52.6 ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย.ปีที่แล้ว จากระดับ 43.1 ในเดือน พ.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 49.5 โดยดัชนีที่อยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตมีการขยายตัว

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย. 63 อยู่ที่ 49.2 จาก 48.2 ในเดือน พ.ค. 63 โดยดัชนีปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 41.4 จาก 40.2 ในเดือน พ.ค. 63 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.00-31.13 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.08/09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (2/7) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1247/48 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (1/7) ที่ระดับ 1.1224/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรได้รับแรงหนุนจากตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือน มิ.ย.ของประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี และสหภาพยุโรป (EU) ที่ปรับตัวขึ้นจากการที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ หลังมีการปิดเศรษฐกิจก่อนหน้านี้เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1246-1.1302 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1291/93 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (2/7) เปิดตลาดที่ระดับ 107.38/39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (1/7) ที่ระดับ 107.54/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนได้รับแรงกดดันจากความคืบหน้าเกี่ยวกับวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนลดการถือครองสกุลเงินปลอดภัย

โดยไฟเซอร์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทยาใหญ่ที่สุดของสหรัฐเปิดเผยว่า ผลการทดลองใช้วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในมนุษย์ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

ไฟเซอร์ได้ดำเนินการทดลองดังกล่าวร่วมกับ BioNTech ซึ่งเป็นบริษัทยาของเยอรมนี และคาดว่าบริษัทจะสามารถผลิตวัคซีน 100 ล้านโดสภายในปลายปีนี้ และมากกว่า 1.2 พันล้านโดส ภายในสิ้นปีหน้า

ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.32-107.55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.40/41 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน มิ.ย. (2/7) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (2/7) อัตราว่างงานเดือน มิ.ย. (2/7) ดุลการค้าเดือน พ.ค. (2/7) ดัชนีภาวะธุรกิจนิวยอร์กเดือน มิ.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน พ.ค. (2/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.10/+0.15 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.10/+0.15 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ