“ลีสซิ่ง” รับมือหนี้เสียโตกระโดด สินเชื่อรถร่วงหนัก-รีเจ็กต์เรตพุ่ง

โควิด-19 เพิ่มลูกค้ากลุ่มเสี่ยง “เช่าซื้อรถยนต์” เข้มปล่อยกู้ “โรงแรม-สายการบิน” ติดกลุ่มเสี่ยงสูง สมาคมเช่าซื้อฯชี้รีเจ็กต์เรตพุ่ง รับมือหนี้เสียเพิ่มเท่าตัว ประเมินสินเชื่อรถร่วงหนักตามยอดขายรถใหม่ คาดทั้งปีแค่ 6 แสนคัน ตลาดรถเก่าดีกว่าคาด คนกลัวโควิดหันซื้อรถมือสอง ขณะที่ครึ่งปีแรกสินเชื่อรถหดตัว 32%

แบ่งลูกค้า 3 ระดับเสี่ยง

นายวิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ครึ่งปีหลังจะเข้มงวดมากขึ้น จากช่วงครึ่งปีแรกที่เข้มงวดอยู่แล้ว คาดว่ายอดการปฏิเสธสินเชื่อ (reject rate) จะเพิ่มอีก ซึ่งแบงก์แบ่งกลุ่มลูกค้าเสี่ยง 3 ระดับ คือ 1.กลุ่มสีแดง เสี่ยงมากที่สุด เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น ธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยว สายการบิน อาจจะไม่ปล่อยสินเชื่อให้เลย

2.กลุ่มสีเหลือง ได้รับผลกระทบบางส่วน เช่น ทันตแพทย์ ร้านนวด และร้านค้าปลีก การให้กู้จะพิจารณาเป็นรายกรณี และ 3.กลุ่มสีเขียว ผู้มีรายได้ประจำจะปล่อยสินเชื่อตามเกณฑ์ปกติ

“ยอดรีเจ็กต์จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อย่างกลุ่มโรงแรม ที่ธุรกิจอาจกลับมาได้แต่ไม่เหมือนเดิม กลุ่มโรงแรม 3-4 ดาว อาจกลับมาก่อน 5-6 ดาว สิ่งเหล่านี้จะนำมาพิจารณา เชื่อว่าครึ่งปีหลังสถานการณ์จะกลับมาเรื่อย ๆ ตามการปลดล็อกของทางการ”

ยอดขายรถใหม่ 6 แสนคัน

นายวิสิทธิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมายอดขายรถยนต์ใหม่ลดลงค่อนข้างมาก เฉพาะเดือน พ.ค.ลดลง 60-70% คาดทั้งปี 2563 ยอดขายจะอยู่ที่ 6 แสนคัน ขณะที่รถเก่าลดลง 20% น้อยกว่าที่คาดไว้ว่าจะลดถึง 40% เนื่องจากโรคระบาดทำให้เกิดกำลังซื้อจากผู้ทีใช้รถสาธารณะตัดสินใจหันมาซื้อรถยนต์มือสองมากขึ้น

ส่วนผลดำเนินงานในไตรมาส 1 ของซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ ยังเติบโต 5-10% แต่หลังโรคระบาดในเดือน มี.ค.-เม.ย. ทำให้ยอดสินเชื่อปรับลดลง 50% บริษัทจึงทบทวนเป้าหมายธุรกิจปี 2563 จากเดิมตั้งเป้ายอดสินเชื่อปล่อยใหม 1.8 หมื่นล้านบาท คงทำไม่ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้

เอ็นพีแอลกระโดดเท่าตัว

นายวิสิทธิ์กล่าวว่า สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หลังมาตรการพักหนี้ 3 เดือน จะครบกำหนด และลูกค้าอาจไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ โดยมี 2 แนวทางคือ 1.พักชำระหนี้ให้ลูกค้าต่อ ในกลุ่มที่ยังไม่สามารถกลับมาได้เป็นปกติ และ 2.ปรับโครงสร้างหนี้ ตามความสามารถในการผ่อนชำระของแต่ละราย โดยมาตรการดังกล่าว สมาชิกแต่ละแห่งอาจดำเนินการไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับลูกค้าแต่ละบริษัท ปัจจุบันสมาคมมีสมาชิก 44 ราย ยอดสินเชื่อเช่าซื้อรวม 2 ล้านล้านบาท

ในส่วนซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ มีลูกค้าเข้าโครงการพักชำระเงินต้น-ดอกเบี้ย 3 เดือน 8 หมื่นราย สินเชื่อรวม 2 หมื่นล้านบาท แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีสัญญาณปรับเพิ่มตามภาวะเศรษฐกิจและรายได้ของลูกค้าที่ลดลง ก่อนโควิด-19 เอ็นพีแอลอยู่ที่ 0.8-0.9% ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1.6%

แบงก์เข้มกลุ่มท่องเที่ยว

นายป้อมเพชร รสานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารธนชาต กล่าวว่า ธนาคารยังเน้นพิจารณาสินเชื่อ โดยดูจากสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) และคุณสมบัติรายบุคคล ซึ่งใช้เกณฑ์เดียวกันในทุกผลิตภัณฑ์ โดยโฟกัสพิเศษในกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 ส่วนกลุ่มที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และสายการบิน จะระมัดระวัง แม้รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และมีมาตรการกระตุ้น เชื่อว่าจะช่วยลูกค้าฟื้นตัวได้ในระยะยาว

การปล่อยสินเชื่อรถยนต์ของธนชาตใน 4 เดือนแรก คงเป็นไปตามเป้า แต่ยอมรับว่าตั้งแต่ปลายไตรมาส 1 ยอดสินเชื่อปล่อยใหม่เริ่มลดลง ตามทิศทางอุตสาหกรรมที่ยอดขายปีนี้จะลดลง 30%

นายป้อมเพชรกล่าวว่า งานมหกรรมรถยนต์ที่จะจัดขึ้น 3 งานใหญ่ในปีนี้ จะเป็นปัจจัยบวกช่วยกระตุ้นยอดขายรถยนต์ใหม่และยอดสินเชื่อยานยนต์ให้ขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากแคมเปญการตลาดหนุนให้ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น ซึ่งปกติงานอีเวนต์จะหนุนยอดขายเพิ่มขึ้น 20-30% คาดว่าภาพรวมยอดขายน่าจะอยู่ที่ 6.4-6.5 แสนคัน

“แม้การจัดงานมหกรรมรถยนต์จะหนุนให้ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อรถยนต์ได้เร็ว แต่จะคงเห็นสถาบันการเงินพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้เป็นหลัก ซึ่งเราอยู่ระหว่างพูดคุยกับพันธมิตรในการทำแคมเปญ ซึ่งการแข่งขันส่วนใหญ่จะอยู่ที่ดอกเบี้ยและราคา”

สินเชื่อรถหดตัว 32%

นางกฤติยา ศรีสนิท ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (กรุงศรี ออโต้) กล่าวว่าไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ตลาดสินเชื่อยานยนต์ชะลอตัวต่อเนื่อง ช่วงครึ่งปีแรกตลาดสินเชื่ออยู่ที่ 2.1 แสนล้านบาท หดตัวราว 32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับกรุงศรี ออโต้ ที่ยอดสินเชื่อใหม่ลดลง 23% อยู่ที่ 8 หมื่นล้านบาทในครึ่งปีแรก

ส่วนแนวโน้มสินเชื่อยานยนต์ช่วงครึ่งปีหลัง มองว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น จากการคลายล็อกดาวน์ จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวตามลำดับ รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

สำหรับ 2 ไตรมาสที่ผ่านมา กรุงศรี ออโต้ ช่วยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปกว่า 6.4 แสนราย จากฐานลูกค้าทั้งหมด 1.8 ล้านราย ทั้งการพักชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ เชื่อว่าจะช่วยคุมเอ็นพีแอลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริษัทพร้อมให้ความช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่องตามนโยบาย ธปท. โดยพิจารณาตามอาการและความต้องการของลูกค้า เช่น พักชำระหนี้ ลดค่างวด

หนุนออนไลน์เสริมทัพ


ขณะที่ปีนี้กรุงศรี ออโต้ ใช้กลยุทธ์ให้บริการสินเชื่อผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยครึ่งปีแรกสินเชื่อออนไลน์มีการเติบโตถึง 25% คิดเป็นมูลค่าสินเชื่อ 1,800 ล้านบาท ล่าสุดกรุงศรีฯได้เปิดบริการ Car4Cash Delivery ขอสินเชื่อบนมือถือ อนุมัติไวใน 3 ชั่วโมง คาดว่าจะช่วยทำให้สินเชื่อ “คาร์ ฟอร์ แคช” เติบโตตามเป้าหมาย