นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย หลังผู้ติดเชื้อโควิด เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่าง 29 มิถุนายน -3 กรกฎาคม 2563 ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบจำกัดในช่วงต้นสัปดาห์ก่อนจะปรับตัวอ่อนค่าตั้งแต่พฤหัสบดี (2/7) โดยเปิดตลาดในวันจันทร์ (29/6) ที่ระดับ 30.90/91 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (26/6) ที่ระดับ 31.80/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในวันศุกร์ (26/6) มีรายงานผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับ 78.1 ในเดือนมิถุนายน จากระดับ 72.3 ในเดือนพฤษภาคม โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเศรษฐกิจครั้งใหม่ หลังจากที่รัฐบาลใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด

ในส่วนของการใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น 8.2% ในเดือนพฤษภาคม แต่ยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ 9.0% ในวันอังคาร (30/6) มีรายงาน PMI ภาคการผลิตและบริการที่ 49.6 และ 46.7 ตามลำดับ ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าคาดการณ์เล็กน้อย

ในส่วนของรายงานการประชุมเฟดที่มีการเปิดเผยออกมานั้น กรรมการเฟดส่วนใหญ่เห็นพ้องกันในประเด็นที่เฟดควรจะมีคำอธิบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ กรรมการเฟดส่วนใหญ่ยังมองว่า การแพร่ระบาดรอบสองของไวรัสโควิด-19 ระลอกสองนั้นยังเป็นไปได้สูงและมาตรการการคลังในการให้ความช่วยเหลืออาจจะไม่เพียงพอ

ในส่วนของตัวเลขด้านแรงงาน ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 2.369 ล้านตำแหน่งในเดือนมิถุนายน และได้ปรับตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนในเดือนพฤษภาคม จากที่เคยรายงานว่าลดลง 2.76 ล้านตำแหน่ง เป็นเพิ่มขึ้น 3.065 ล้านตำแหน่ง

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐยังเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 4.8 ล้านตำแหน่งในเดือนมิถุนายน สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 3 ล้านตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานเดือนมิถุนายนปรับตัวลดลงสู่ระดับ 11.1% จากระดับ 13.3% ในเดือนก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงมีความกังวลในเรื่องการระบาดระลอกสองของไวรัสโควิด-19 โดยจำนวนผู้ติดเชื้อในรัฐต่าง ๆ ของสหรัฐยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ในส่วนของประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ เดือนมิถุนายนที่ระดับ 38.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 34.4 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ค่อนข้างมาก สะท้อนว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับต่ำ ใกล้เคียงกับเดือนก่อนแม้จะมีการเปิดเมืองจนใกล้จะถึงระดับปกติแล้ว

นอกจากนี้ คณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.) ได้ออกมารับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2563 ลงมาเป็น -8.0 ถึง -5.0% (จากเดิม -5.0 ถึง -3.0%) ในวันพฤหัสบดี (2/7) มีรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิถุนายน โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าระบุว่าดัชนีปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย อยู่ที่ระดับ 49.2 โดยได้รับแรงหนุนจากรัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 3 และ 4 รวมถึงมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาช่วยเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และการคงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.50 ของ ธปท.

อย่างไรก็ดี ยังคงมีอีกหลายปัจจัยลบที่อาจกระทบความเชื่อมั่นผู้บริโภค เช่น ความวิตกกังวลการแพร่ระบาดสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 และ GDP ของไทยที่ถูกปรับลดคาดการณ์จากหลายสถาบัน นอกจากนี้ในวันศุกร์ (3/7) สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนที่ 101.32 โดยหดตัว -1.57% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัว 1.56% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ในส่วนของดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ระดับ 102.50 ลดลง -0.05% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยนับเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี 8 เดือนที่ Core CPI ติดลบ

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์มองว่าอัตราเงินเฟ้อได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นหลังจากนี้ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.86-31.13 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (3/7) ที่ระดับ 31.10/12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวผันผวนไปในทิศทางแข็งค่า โดยเปิดตลาดในวันจันทร์ (29/6) ที่ระดับ 1.1228-32 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (26/6) ที่ระดับ 1.1125/29 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรได้รับแรงหนุนจากการเข้าหารือของนางอังเกลจากเยอรมนี และนายมาครงจากฝรั่งเศสในวันอังคาร (30/6) ที่ผ่านมา ในเรื่องงบประมาณเพื่อฟื้นฟูยูโรโซนจากไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ทั้งสองย้ำว่ายังคงต้องใช้เวลาอีกระยะในการหาข้อตกลงในกลุ่มประเทศสมาชิก

นอกจากนี้ค่าเงินยูโรยังได้รับผลบวกจากตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกที่ขยายตัว โดยในวันพุธ (1/7) สำนักงานสถิติของเยอรมนีเปิดเผยยอดค้าปลีกเดือนพฤษภาคมของเยอรมนีปรับตัวดีขึ้นบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน หลังจากรัฐบาลมีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ โดยยอดค้าปลีกของเยอรมนีเพิ่มขึ้น 13.9% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน หลังจากลดลง 6.5% ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นระดับที่ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับตัวขึ้นเพียง 3.9% อีกทั้ง ไอเอชเอส มาร์กิต ยังได้รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซนที่ระดับ 47.4 ในเดือนมิถุนายน ฟื้นตัวจากระดับ 39.4 ในเดือนพฤษภาคม

สำหรับประเทศเยอรมนี ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซืัอ (PMI) ภาคการผลิตปรับตัวขึ้นดีขึ้นเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นแตะระดับ 45.2 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของฝรั่งเศสปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน โดยพุ่งขึ้นแตะ 52.3 ในเดือนมิถุนายน นับเป็นการปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 50 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมกราคม อย่างไรก็ดี ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงในวันศุกร์ (3/7) หลังมีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้นักลงทุนหันมาเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1183-1.1302 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (3/7) ที่ระดับ 1.1236/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดในวันจันทร์ (29/6) ที่ระดับ 107.29/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (26/6) ที่ระดับ 106.89/82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยได้รับแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ออกมาไม่ดีนัก โดยในวันจันทร์ (29/6) มีการเปิดเผยตัวเลขยอดค้าปลีกที่ -12.3 ซึ่งแม้จะดีกว่าช่วงก่อนหน้าแต่ยังคงแย่กว่าคาดการณ์ที่ -1.16 นอกจากนี้ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมก็หดตัวลง -8.4 ซึ่งลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะหคาดไว้ที่ระดับ -5.6%

ในส่วนของสมาคมผู้ค้ารถยนต์ของญี่ปุ่นรายงานยอดขายรถยนต์ใหม่เดือนมิถุนายน ซึ่งไม่นับรวมรถยนต์ขนาดเล็ก ปรับตัวลง 26% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยยอดขายรถยนต์ยังปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ทรุดตัวลงถึง 40.2% ในเดือนก่อนหน้า โดยความต้องการรถยนต์ที่ลดลงอย่างมากนั้นเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ค่าเงินเยนอ่อนค่าแตะระดับ 108.00 เยน/ดอลลาร์ ในวันพุธ (1/7) ก่อนจะค่อย ๆ ปรับตัวแข็งค่าหลังตลาดกังวลปัญหาไวรัสโควิด-19 รอบสอง


ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.03-108.16 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (3/7) ที่ระดับ 107.44/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ