ผู้ว่าฯแบงก์ชาติจับตาปัจจัยกดดันค่าเงินบาท ย้ำติดตามใกล้ชิด พร้อมงัดเครื่องมือดูแลหากจำเป็น

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลเข้าประเทศไทย ในช่วงที่ผ่านมา ถือว่ายังเป็นส่วนน้อย เมื่อเทียบกับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ซึ่ง ธปท. ก็มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และหากจำเป็นต้องมีมาตรการดูแล ก็พร้อมดำเนินการ
“การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นช่องทางหลักของเงินตราต่างประเทศที่เข้ามา” นายวิรไทกล่าว

นายวิรไท กล่าวว่า การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าช่วงที่ผ่านมา เหตุผลสำคัญคือ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงิน รวมถึงเงินบาท โดยปัจจัยสำคัญที่มีส่วนทำให้ค่าเงินเปลี่ยนแปลงในช่วงที่ผ่านมา และจะยังมีผลต่อไปในอนาคต ก็คือมุมมองของตลาดเงินตลาดทุนต่อค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งก็มีเรื่องที่เกี่ยวข้อง อาทิ แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ขณะนี้ชัดเจนขึ้นเรื่องการปรับลดงบดุลของเฟด รวมทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

นอกจากนี้ ยังมีความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องการปฏิรูปภาษีของรัฐบาลอเมริกัน

“ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกับค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลต่าง ๆในโลก รวมถึงค่าเงินบาท โดยในกรณีของประเทศไทย ก็ยังมีปัจจัยเฉพาะของประเทศ คือการที่เราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจากการส่งออก และยังมีเรื่องการท่องเที่ยวที่ดีกว่าการนำเข้าสินค้าและบริการ ทำให้เงินตราต่างประเทศเข้ามากกว่าที่เราจ่ายออกไป” นายวิรไทกล่าว

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ต้องย้ำกับผู้ประกอบการส่งออกว่า การบริหารอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะกรณีที่ความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลัก ๆ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ที่ทำให้ค่าเงินมีความผันผวน
“อยากให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน อยากให้ทำเป็นเรื่องปกติในการค้าขายข้ามประเทศ” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

นายวิรไท กล่าวอีกว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ผ่านมา ที่ กนง. ได้มีการปรับประมาณการอัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจของไทยใหม่ โดยปรับขึ้น GDP จาก 3.5% เป็น 3.8% ต่อปีในปี 2560 นี้ ส่วนปี 2561 ปรับจาก 3.7% เป็น 3.8% สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง และกระจายหมวดสินค้า รวมถึงมีตลาดที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญบริษัทที่ส่งออกมีการกระจายตัวมากขึ้น ไม่ได้กระจุกตัวแต่รายใหญ่

“การกระจายตัวของภาคการส่งออกที่ดีขึ้น ผนวกกับภาคการท่องเที่ยวยังดีมากในช่วงที่ผ่านมา ก็เริ่มส่งผลต่อการจ้างงานเพิ่มในบางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก การบริโภคในภาพรวมก็มีแนวโน้มค่อย ๆฟื้นตัวดีขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ กนง. ปรับประมาณการ” นายวิรไทกล่าว

ส่วนการที่ กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้อีกครั้งนั้น นายวิรไท กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงิน กนง.ให้ความสำคัญใน 3 มิติที่ต้องติดตามและดูล คือ 1.เสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค โดยดูว่ามีแรงกดดันเงินเฟ้อให้ปรับสูงขึ้นหรือไม่ ซึ่งคงไม่ต้องการเห็นเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเร็ว เพราะจะมีผลกระทบการเติบโตเศรษฐกิจในระยะยาว

2.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ที่ กนง. อยากเห็นการฟื้นตัวอย่างเต็มศักยภาพ และ 3.เสถียรภาพการเงิน ซึ่งการที่ดอกเบี้ยอยู่ระดับต่ำมานาน อาจจะสร้างผลข้างเคียง เช่น แรงจูงใจในการออมของประชาชนลดลง ในขณะที่ประเทศจำเป็นต้องสร้างฐานการออมสำหรับอนาคต หรือพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่มากเกินควร การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำเกินควร ก็อาจจะสร้างความเปราะบางได้ในอนาคต

“กนง. พิจารณาทั้งแรงกดดันด้านราคา การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมหภาคให้สอดคล้องกับศักยภาพ และเสถียรภาพการเงิน แต่การพิจารณาก็ต้องดูบริบทของประเทศอื่น ๆด้วย โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงในตลาดเงินตลาดทุนโลก ฉะนั้นเราก็จะติดตามสถานการณ์ภายนอกอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินนโยบายการเงินของเราตอบโจทย์ทั้ง 3 เรื่อง” นายวิรไทกล่าว

ทั้งนี้ การที่ไม่ปรับอัตราดอกเบี้ย จะมีเงินระยะสั้นไหลเข้ามามากน้อยแค่ไหน ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า คงต้องพิจารณาเป็นช่วง ๆไป โดยส่วนสำคัญ ย้ำว่า มาจากเรื่องมุมมองของนักลงทุนต่อประเทศอุตสาหกรรมหลัก และความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีที่อาจทำให้นักลงทุนที่ไม่ต้องการความเสี่ยง นำเงินไปพักในตลาดที่มีความเสี่ยงต่ำ

นอกจากนี้ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวด้วยว่า กนง.ยังได้ปรับประมาณการแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อลง สาเหตุสำคัญมาจากราคาสินค้าเกษตรที่ปีนี้อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เพราะปีที่แล้วเกิดภัยแล้ง ทำให้ฐานสูง