ท่องเที่ยววูบ-กำลังซื้อทรุด กรุงศรีฯ หั่นจีดีพี 63 ดิ่ง -10.3%

Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT/AFP

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ปรับประมาณการจีดีพี -10.3% จาก -5.5% หวั่นโควิดระบาดระลอก 2 ฉุดนักท่องเที่ยวหายวับเหลือ 6.7 ล้านคน จาก 40 ล้านคนปี 62 ชี้ สัญญาณอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ-กำลังซื้อหาย การลงทุนลดฮวบ -14.7% เผย ไตรมาส 2 เจ็บหนักเห็นติดลบหนัก -17%

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 อยู่ที่ -10.3% จากคาดการณเดิมอยู่ที่ -5% ปัจจัยมาจากสถานการณ์ที่เดิมคาดว่าจะคลี่คลายได้เร็ว แต่จะเห็นว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงยืดเยื้อ แม้ว่าในประเทศยังทำได้ค่อนข้างดี แต่ต่างประเทศยอดการติดเชื้อเพิ่มต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่สามารถกลับมาได้เร็ว

โดยคาดการณ์ปี 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวจะเหลือเพียง 6.7 ล้านคน จากปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน ถือเป็นยอดที่หายไปสูงถึง 83% และคาดว่าในช่วงที่เหลือของปีจำนวนนักท่องเที่ยวก็ยังคงเข้ามาน้อย แม้ว่าต่างประเทศบางประเทศทยอยเปิดประเทศ แต่เชื่อว่าทางการไทยยังคงไม่ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาทันที เพราะยังห่วงเรื่องการระบาดของไวรัสโควิด-19

ขณะเดียวกันสัญญาณอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอลง แม้ว่าภาครัฐพยายามออกนโยบายมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่นโยบายออกมาทำได้เพียงประคอง ประกอบกับวิกฤตครั้งนี้ทำให้เศรษฐกิจทรุดค่อนข้างเร็ว จึงกระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ เนื่องจากกิจกรรมในประเทศหยุดกระทบแรงต่อเนื่องไปยังกำลังซื้อ และส่งผลต่อการลงทุนภาคเอกชนหดตัวสูงขึ้นจากประมาณการเดิมอยู่ที่ -5.5% มาอยู่ที่ -14.7% ส่วนหนึ่งมาจากภาคการส่งออกที่ชะลอตัวจากเศรษฐกิจโลกและความต้องการปริมาณการค้าโลกที่ลดลง จึงปรับตัวเลขการส่งออกจาก -10.0% เป็น -12.5%

“การปรับจีดีพีรอบนี้ที่ -10.3% เนื่องจากเราไม่ได้ปรับมา 3 เดือน ซึ่งจากคาดการณ์ครั้งก่อนเราคิดว่าสถานการณ์จบเร็ว การท่องเที่ยวกลับมาได้ แต่โควิดมีแนวโน้มระบาดรอบ 2 ทั้งนี้ หากแยกแยะจีดีพี -10.3% เราให้ผลจากนักท่องเที่ยวที่จะหายไปประมาณ 3.7% และกำลังซื้อที่อ่อนแอลงอีก 3.7% รวมปัจจัยนอกเหนือของไทยที่เผชิญ คือ ภัยแล้งและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เลื่อนไปจากพ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ที่ล่าช้าก่อนหน้านี้”

ดร.สมประวิณ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ธนาคารได้ประมาณการณ์จะเห็นอัตราติดลบค่อนข้างลึกอยู่ที่ -17% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาการล็อกดาวน์และการปิดกิจกรรมภายในประเทศ รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่หายไป อย่างไรก็ดี ธนาคารคาดว่าสถานการณ์จะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 3-4 ตามกิจกรรมที่คลายล็อกและนโนบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการดึงกำลังซื้อจากคนที่มีกำลัง เช่น มาตรการท่องเที่ยว เป็นต้น จะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้ดีขึ้น แต่ยังคงเห็นจีดีพีติดลบ แต่เป็นการติดลบน้อยลง

“เรามองว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปฟื้นตัวเหมือนในช่วงก่อนจะมีโควิด-19 อาจจะต้องใช้เวลาถึง 3 ปี โดยในปี 64 จะเริ่มเห็นการทยอยฟื้นตัวโดยมองจีดีพีจะอยู่ที่ 2.9% และในปี 65 จีดีพีจะอยู่ที่ 4.2% และในปี 66 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีขึ้นเทียบช่วงก่อนโควิด”