แบงก์อุ้ม “รวมหนี้-ลดดอก” GenY ตบเท้ารีไฟแนนซ์พุ่ง

แบงก์อัดแคมเปญรีไฟแนนซ์ “รวมหนี้-ลดดอกเบี้ย” ลดผลกระทบโควิด-19 “ซีไอเอ็มบี ไทย” รับรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตผ่อน 12 เดือน ดอกเบี้ย 9% ชี้หมดมาตรการอุ้มลูกหนี้ ธปท. ดันยอดรีไฟแนนซ์พุ่ง จับตา Gen Y หนี้สูง ตบเท้าแก้หนี้ “กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์” เน้นช่วยลูกค้าแปลงสินเชื่อบุคคล-บัตรเครดิตรีไฟแนนซ์กว่า 7.6 หมื่นบัญชี มูลหนี้ราว 3 พันล้านบาท

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเฟสแรก พบว่ามีลูกหนี้รายย่อยได้รับความช่วยเหลือ 11.5 ล้านบัญชี ส่วนใหญ่เป็นบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล มูลหนี้รวม 3.8 ล้านล้านบาท และธปท.ก็ได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินเพื่อดำเนินมาตรการช่วยเหลือเฟส 2 ต่อถึงสิ้นปี 2563

แบงก์อัดแคมเปญ “รวมหนี้”

นางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์ธุรกิจรายย่อย และยุทธศาสตร์การตัดสินใจ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มการทำแคมเปญรีไฟแนนซ์ “รวมหนี้” ทั้งระบบในระยะข้างหน้า ทิศทางยังเพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้หวือหวา เนื่องจากขณะนี้สถาบันการเงินแต่ละแห่งยังคงมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทำให้ลูกหนี้ยังคงอยู่ธนาคารเดิม แต่เชื่อว่าหลังจากสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และไม่มีมาตรการพิเศษออกมา จะเห็นโครงการรีไฟแนนซ์รวมหนี้ในตลาดเพิ่มมากขึ้น

ขณะนี้ธนาคารได้ร่วมมือกับ NEO Money สตาร์ตอัพพัฒนา mobile lending ในการบริหารจัดการหนี้ หรือปิดหนี้ ซึ่งลูกค้าอาจจะใช้บัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคลหลายใบ และจากหลายสถาบันการเงิน และหากมารีไฟแนนซ์รวมหนี้ไว้แห่งเดียวเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ โดยคิดดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ 11.84% ซึ่งเบื้องต้นที่เปิดให้บริการ พบว่ามีลูกค้าให้ความสนใจสมัครผ่านแอปพลิเคชั่นหลักหมื่นราย

สำหรับโครงการรีไฟแนนซ์รวมหนี้ของธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มี 2 รูปแบบคือ ลูกค้าที่ต้องการ “ลดดอกเบี้ย” โดยผ่อนชำระต่อเดือนเท่าเดิม เช่น รวมหนี้บัตรเครดิต 3 ใบ ผ่อนชำระอัตราเท่าเดิมระยะเวลา 12 เดือน ได้ลดดอกเบี้ยจาก 18% เหลือ 9% อีกกลุ่มที่ต้องการ “ลดการผ่อนต่องวด” ลง 50% และลดดอกเบี้ย เนื่องจากรายได้ลดลงก็จะขยายเวลาผ่อนชำระเป็น 2 ปี คิดดอกเบี้ย 13.33% หรือกลุ่มลูกค้าที่มีสินทรัพย์ เช่น รถยนต์ที่ปลอดหนี้ สามารถนำไปขอสินเชื่อมาปิดหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง โดยเสียดอกเบี้ยเช่าซื้อหรือจำทะเบียนเฉลี่ย 6-7%

“หลังหมดมาตรการพิเศษจากแบงก์ จะเห็นการรีไฟแนนซ์บริหารจัดการหนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y (23-40 ปี) สอดคล้องกับข้อมูลของเครดิตบูโรที่ระบุว่า กลุ่ม Gen Y มีภาระหนี้สูงขึ้นตามพฤติกรรมการใช้ชีวิต อย่างไรก็ดี ธนาคารยังคงเน้นเป็นลูกค้าที่มีวินัยการเงินที่ดี แต่ได้ผลกระทบระยะสั้น เพราะการรวมหนี้มารีไฟแนนซ์การผ่อนชำระไม่ควรเกิน 3 ปี”

“เฟิร์สช้อยส์” อุ้มลูกค้า

ด้านนางสาวณญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต “กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์” กล่าวว่า ปัจจุุบันบริษัทจัดแคมเปญรวมหนี้รีไฟแนนซ์ เฉพาะของกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์เท่านั้น ยังไม่มีรวมหนี้จากค่ายอื่น สำหรับลูกหนี้ที่ผ่อนชำระไม่ไหว แต่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอลสามารถรีไฟแนนซ์หรือแปลงหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อผ่อนชำระเป็นงวดแปลงเป็นสินเชื่อระยะยาว (term loan) ผ่อน 48 งวด คิดอัตราดอกเบี้ย 12% ส่วนวงเงินที่เหลือในบัตรสามารถผ่อนชำระขั้นต่ำ 3% ตามนโยบายของ ธปท.

โดยลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการรีไฟแนนซ์ ณ วันที่ 24 มิ.ย. 63 ในส่วนของบัตรเครดิต 23,000 บัญชี ยอดหนี้ราว 1.14 พันล้านบาท สินเชื่อส่วนบุคคล 53,600 บัญชี ยอดหนี้ราว 2 พันล้านบาท อย่างไรก็ดี มองว่าแนวโน้มลูกค้าจะเข้าโครงการรีไฟแนนซ์ น่าจะใกล้เคียงกับมาตรการช่วยเหลือเฟสที่ 1 เพียงแต่มีโอกาสเข้าถึงการช่วยเหลือได้ยาวขึ้นถึงสิ้นปี”63

สำหรับในมาตรการเฟส 1 ของกลุ่มกรุงศรี คอนซูมเมอร์ มีลูกค้าที่รับความช่วยเหลือไปแล้ว แบ่งเป็นกลุ่มบัตรเครดิต415,000 ราย มูลหนี้ 1.69 หมื่นล้านบาทหรือ 27% ของยอดหนี้ทั้งหมด และสินเชื่อบุคคล 579,000 ราย มูลหนี้ 2.26 หมื่นล้านบาท หรือ 34% ของยอดหนี้ทั้งหมด

“การรีไฟแนนซ์ช่วยลูกค้าได้ดอกเบี้ยลดลง ภาระชำระต่องวดลดลง แต่ลูกค้าอาจจะต้องแสดงหลักฐานว่าตัวเองได้รับผลกระทบจริง รายได้หายและไม่สามารถผ่อนชำระไหว”

SCB รวมหนี้ดอกเบี้ย 9.9%

ด้านนางสาวอรรัตน์ ชุติมิต รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Retail and Business Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าธนาคารมีโปรแกรม Speedy BalanceTransfer เปิดให้บริการตั้งแต่ต้นปี 2563เพื่อช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าที่มีภาระหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อบุคคลอื่น ที่มีภาระผ่อนชำระหลายบัญชี หรือหลายสถาบันการเงิน ให้สามารถรวมหนี้และนำมาผ่อนชำระกับธนาคารไทยพาณิชย์ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายได้สบายยิ่งขึ้น

และระยะเวลาการผ่อนชำระที่ชัดเจน ช่วยลดภาระการผ่อนชำระต่อเดือนและช่วยให้สามารถบริหารจัดการการเงินได้ดีขึ้นภายใต้สภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษต่ำสุด 9.99% ในปีแรก เพื่อช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มพนักงานประจำให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีลูกค้าเข้าร่วมโปรแกรมกว่า 900 ราย มูลค่าหนี้เฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 500,000 บาท คาดว่าปีนี้จะมีลูกค้าให้ความสนใจและเข้าร่วมโปรแกรมประมาณ 2,000 ราย คิดเป็นยอดสินเชื่อประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยจะเห็นว่าขณะนี้มีสถาบันการเงินอื่น ๆ เริ่มมีการออกโปรแกรมในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน

นางสาวพิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ธุรกิจสินเชื่อบุคคล บริษัท บัตรกรุงไทย (KTC) เปิดเผยว่าในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด บริษัทเห็นสัญญาณลูกค้าที่มีความต้องการเคลียร์หนี้เพิ่มมากขึ้น สะท้อนจากแคมเปญ “เคลียร์หนี้กับ KTC PROUD” ที่ได้รับความสนใจจากลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากโควิด-19 ทำให้รายได้ลดลง โดยพบว่าเดือน เม.ย.-พ.ค.มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมลุ้น “เคลียร์หนี้กับ KTC PROUD” เพิ่มเป็น 1.4-1.5 หมื่นราย จากปกติที่มียอดลงทะเบียนเฉลี่ยเพียง 8,000 ราย เพราะใน

ช่วงวิกฤต ลูกค้ากังวลในเรื่องภาระหนี้ที่ตัวเอง อย่างไรก็ตาม ลูกค้าที่จะเข้าร่วม จะต้องเป็นลูกค้าที่มีประวัติการชำระหนี้ที่ดี และมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรขั้นต่ำ 2,000 บาทต่อเดือน สอดคล้องกับนโยบาย ธปท.ที่ต้องการให้สถาบันการเงินให้รางวัลกับลูกหนี้ที่ดี


สำหรับลูกค้า KTC เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือจากผลกระทบโควิด-19 เฟสแรก ซึ่งสิ้นสุดไปเมื่อ 30 มิ.ย.นี้ โดยเคทีซีมีอยู่ 2-3 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.ลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำเหลือ 3% 2.สินเชื่อหมุนเวียน แปลงหนี้เป็นสินเชื่อเทอมโลน 48 เดือน ดอกเบี้ย 22% ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าเข้าโครงการ 1,700 ราย มูลหนี้ 135 ล้านบาท และ 3.สินเชื่ออเนกประสงค์ KTC CASH พักชำระค่างวด 3 รอบบัญชี ซึ่งกลุ่มนี้มีลูกค้าใช้ไม่เยอะ ประมาณ 100 ราย